(เพิ่มเติม) KBANK มั่นใจสินเชื่อบ้านปีนี้ตามเป้า 5 หมื่นลบ.แม้ตอนนี้ปล่อยได้ 1.7 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 26, 2013 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ นองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของสินเชื่อบ้านกสิกรไทย ณ สิ้นเดือน พ.ค.56 มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 2.15 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ 1.73 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 35% ของเป้าหมายที่ธนาคารคาดว่าจะมีสินเชื่อบ้านปี 56 ที่ 2.23 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อใหม่ที่ 4.95 หมื่นล้านบาท เติบโต 5-8% จากปี 55

ทั้งนี้ ล่าสุด ธนาคารรุกขยายตลาดสินเชื่อบ้านด้วยบริการออนไลน์ครบวงจร เน้นการอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ทันใจ พร้อมเปิดเคมเปญบนสื่อสังคมออนไลน์"สินเชื่อบ้านกสิกรไทย คลิก Like ลุ้นเบนซ์"ให้ลูกค้าคลิกคลิปถูดใจลุ้นรับนถเบนซ์ และตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อจากเคมเปญดังกล่าว 1.6 หมื่นล้านบาท

นายปกรณ์ มั่นใจว่า ยอดสินเชื่อบ้านในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าขณะนี้จะปล่อยไปได้เพียง 1.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อบ้านได้เพิ่มมากขึ้นและเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกันธนาคารก็จะพยายามคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.4% ซึ่งน้อยกว่าภาพรวม NPL ในระบบที่อยู่ในระดับ 2% โดยที่ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่ออย่าระมัดระวังมากขึ้น เน้นลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ในระดับที่ดี ทำให้ NPL สินเชื่อบ้านของธนาคารอยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับภาระหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ เริ่มมีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ซึ่งโดยปกติภาระหนี้ของลูกค้าต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ และพบว่าในช่วงที่ผ่านมาลูกค้ามีภาระหนี้มากขึ้น ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อให้ผ่านลดลง

อย่าไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากตัวเลขจำนวนยูนิตคงเหลือในปี 55 ลดลง และปริมาณซัพพลายที่อยู่อาศัยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตปี 40 ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์แม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3-6% แต่ก็ยังไม่สูงนัก เนื่องจากผู้ประกอบการปรับราคาขึ้นตามต้นทุนค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงราคาที่ดินในบางพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10%

"เรามองว่ายังมีโอเวอร์ซัพพลายในบางพื้นที่โดยเฉพาะคอนโดฯตามแนวรถไฟฟ้า และคอนโดฯ ระดับกลางถึงล่างที่มีปริมาณซัพพลายที่สูงขึ้นจนต้องสนใจเป็นพิเศษ แต่ก็พบว่าความต้องการก็ยังมีอยู่ในระดับสูงเหมือนกัน นอกจากนี้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าสัดส่วนโครงการแนวราบจะเพิ่มมากขึ้นกว่าคอนโดฯ จากปัจจุบันมีสัดส่วนโครงการคอนโดฯต่อแนวราบที่ 60:40 เนื่องจากรถไฟฟ้เริ่มขยายออกไปตามชานเมืองมากขึ้น"นายปกรณ์ กล่าว

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องปรับทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เนื่องจากในส่วนของเงินฝากธนาคารต้องการให้ลูกค้าทุกกลุ่มใช้ KBANK เป็นธนาคารหลัก ซึ่งธนาคารมีฐานลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ 60% ส่วนด้านเงินกู้ถ้ามีการปรับลงก็อาจส่งผลกระทบ และอาจทำให้เกิดสัญญาณฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยทำให้มีความต้องการซื้อมากขึ้น แต่อาจจะไม่ใช้ความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยที่แท้จริง ซึ่งเป็นการเก็งกำไร และลูกค้าที่มาขอกู้อาจจะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี ทำให้ธนาคารต้องมีการปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ