อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ TBANK สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจ (franchise) ภายในประเทศขนาดกลางของธนาคาร และการที่ธนาคารเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนในการดำเนินงานทั่วไป (ordinary support) รวมถึงการบริหารความเสี่ยง จาก Bank of Nova Scotia หรือ BNS (‘AA-’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) แม้ว่าอัตราส่วนทางการเงินโดยทั่วไปของ TBANK จะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกัน แต่อัตราส่วนในด้านเงินกองทุนและโครงสร้างการกู้ยืมอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่า
โครงสร้างเงินกู้ยืม (funding profile) ของ TBANK ปรับตัวดีขึ้น โดยฐานเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 60% จากสิ้นปี 2554 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 81% ของเงินกู้ยืมรวม ณ สิ้นปี 2555 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 60% ณ สิ้นปี 2554 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ลงทุนในตั๋วแลกเงิน (BE) เปลี่ยนเป็นเงินฝากประจำ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินฝากส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารปรับตัวลดลงเป็น 108% ณ สิ้นปี 2555 จาก 145% ณ สิ้นปี 2554 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 113% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความไม่แน่ใจของฟิทช์ในการรักษาระดับความสามารถในการระดมทุนของธนาคารที่ได้ปรับตัวดีขึ้นแล้วให้คงอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนดอกเบี้ยในการระดมทุนอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันที่รุนแรง
ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารจะปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในปี 2556 โดยมีปัจจัยหลักมาจากกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต TBANK มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงต่อเนื่องเป็น 32.4 พันล้านบาท หรือ 4.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 (เทียบกับ 38.9 พันล้านบาท หรือ 6.1% ณ สิ้นปี 2554) อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมคาดว่าจะยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องในปี 2556 เนื่องจากการปรับโครงสร้างและสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงอยู่ในระดับดี สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (special mention loans) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 33.2 พันล้านบาท หรือ 4.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 (สิ้นปี 2555 อยู่ที่ 28.6 พันล้านบาท หรือ 3.8%) แต่ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อดังกล่าวจะไม่ปรับตัวลงมาเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอัตราที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม TBANK มีแผนที่จะนำกำไรบางส่วนที่จะรับรู้จากการขายบริษัทประกันชีวิตที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร เพื่อนำมาตั้งเป็นสำรองหนี้สงสัยจะสูญพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 100% ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศมากขึ้น
TBANK มีอัตราส่วนเงินกองทุนที่คำนวณโดยฟิทช์ (Fitch Core Capital Ratio) ที่ 8.7% และ อัตรส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 8.5% ณ สิ้นปี 2555 อยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและต่างประเทศ TBANK มีแผนที่จะรักษาระดับเงินกองทุนชั้นที่ 1 ให้อยู่ในระดับ 9% - 10% ในระยะปานกลาง ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ฟิทช์คาดว่าเป้าหมายดังกล่าวน่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากธนาคารน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และมีเป้าการขยายสินเชื่อที่ชะลอตัวลง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ของ TBANK
สัญญาณที่แสดงว่า TBANK สามารถที่จะรักษาระดับความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง การที่ความสามารถในการระดมทุนของธนาคารไม่อ่อนแอลง และการรักษาคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้แนวโน้มอันดับเครดิตได้รับการปรับกลับมาเป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ การปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวม โดยเฉพาะในด้านเงินกองทุนและความสามารถในการระดมทุน หรือ การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ BNS เกินกว่า 50% (จากปัจจุบันที่ 49%) อาจส่งผลให้ธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ในทางกลับกัน ผลกระทบจากการแข่งขัน ซึ่งสะท้อนได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ย เทียบกับธนาคารคู่แข่ง การพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น หรือ การปรับตัวดีขึ้นของความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมที่ช้า เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของธนาคารถูกปรับลดลง นอกจากนี้อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หาก BNS ขายหุ้นที่ถือให้ TBANK แก่ผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่มีความสามารถน้อยกว่า BNS ในการให้การสนับสนุนในการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินแก่ TBANK
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของ TBANK — อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘BB+’ ของ TBANK สะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น มุมมองดังกล่าวพิจารณาถึงความสำคัญของ TBANK ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน โดยเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับที่ 7% - 8%
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TBANK
การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน (ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนจากขนาดของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก) อาจส่งผลให้โอกาสในการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป และจะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำถูกปรับอันดับเช่นกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของ BNS เกินกว่า 50% อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคาร อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตของ TCAP — อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
อันดับเครดิตภายในประเทศของ TCAP ถูกปรับลดลงมาจากอันดับเครดิตของบริษัทลูกซึ่งคือ TBANK ที่เป็นบริษัทหลักในเครือ เนื่องจากการที่ TCAP ต้องพึ่งพารายได้จากเงินปันผลจาก TBANK (ซึ่งต่างจากสินเชื่อจาก TBANK ที่ ถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 5% ของเงินกองทุน) และการที่ TBANK มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่ไม่ใช่ TCAP ในระดับสูง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของ TBANK
อันดับเครดิตสนับสนุนของ TCAP สะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่เชื่อว่า TCAP มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจาก TCAP มีโครงสร้างเป็นเป็นบริษัทโฮลดิ้ง และฟิทช์คาดว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในกรณีที่มีความจำเป็น น่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือกับ TBANK ไม่ใช่ในระดับของบริษัทแม่
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TCAP
การเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตของ TBANK จะส่งกระทบต่ออันดับเครดิตของ TCAP การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (double leverage ratio) (ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักที่ 105% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556) หรือการปรับตัวด้อยลงของสภาพคล่อง อาจส่งผลให้ความแตกต่างของอันดับเครดิตของ TCAP ได้รับการปรับให้มีความห่างมากขึ้นจาก TBANK
TBANK เป็นบริษัทหลักในการดำเนินงานของกลุ่มธนชาต TCAP มีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 51% ใน TBANK ในขณะที่ BNS ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับสามของประเทศแคนาดา มีสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK ที่ 49% TBANK เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 7.6% ในด้านสินทรัพย์ ณ สิ้นปี 2555 TBANK มีเครือข่ายการดำเนินงานในประเทศที่แข็งแกร่งในด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์