อันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า และยังคำนึงถึงความสามารถของบริษัทในการปรับลดเงินลงทุนและลดต้นทุนในการดำเนินงานในภาวะที่อุตสาหกรรมถ่านหินชะลอตัวตลอดจนวินัยทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ ราคาถ่านหินที่อ่อนแอ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า BANPU จะยังคงรักษาวินัยทางการเงินและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีไว้ได้ แผนการลดต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับลดแผนลงทุนจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวในภาวะชะลอตัวของอุตสาหกรรมถ่านหินไว้ได้ ทั้งนี้ เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนที่เกิดจากภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจถ่านหินที่มีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน
BANPU เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2555 กำไรจากธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 68% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 8% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของ EBITDA
เมื่อพิจารณาในด้านประเภทธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2555 คิดเป็นสัดส่วน 91% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือในสัดส่วน 9% มาจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 80% ของ EBITDA ขณะที่กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 20% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวลง
ในปี 2555 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปู (ไม่รวมประเทศจีน) คิดเป็นจำนวน 43.1 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 28.5 ล้านตันและในประเทศออสเตรเลีย 14.6 ล้านตัน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทผลิตถ่านหิน 10.0 ล้านตัน ณ เดือนมีนาคม 2556 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 801 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ประมาณ 580 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตราว 18 ปี
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทยังถูกกดดันจากราคาถ่านหินที่ลดลง ราคาขายถ่านหินของเหมืองที่ประเทศอินโดนีเซียยังอ่อนแออยู่ระดับ 80.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจถ่านหินลดลงเป็น 29.1% เมื่อเทียบกับ 43.4% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ราคาถ่านหินที่ปรับตัวลงและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการย้ายเครื่องจักรที่เหมือง Mandalong ในประเทศออสเตรเลีย เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงในไตรมาสที่ 1 ปี 2556
ผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจไฟฟ้ามีส่วนช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีนปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 โดยรายได้รวมของธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นจาก 17.6% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เป็น 28.7% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงถ่านหินลดลง ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีนมี EBITDA 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ที่มีผลขาดทุน
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าในประเทศไทยบริษัทถือหุ้น 50% ใน บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP Power Ltd. -- BLCP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินขนาด 1,434 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) BLCP นำส่งกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันแล้วบริษัทยังถือหุ้น 40% ในโครงการหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ IPP ที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว โครงการหงสาอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 49% และเฟสแรกของโครงการจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2558
แม้ว่าราคาถ่านหินจะปรับตัวลดลงมากในปี 2555 แผนการลดต้นทุนและการฟื้นตัวของธุรกิจไฟฟ้าช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไร อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับ 14.9% EBITDA ของบริษัทลดลงเป็น 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ลดลง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) ลดลงเป็น 6.5 เท่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 จาก 10.6 เท่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2555
แม้ว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง อัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางที่ 44.8% ณ เดือนมีนาคม 2556 บริษัทได้ปรับแผนการลงทุนสำหรับการพัฒนาและการขยายกำลังการผลิตลงเป็น 1,248 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ณ เดือนพฤษภาคม 2556 บริษัทได้ทำสัญญาขายถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 90% ของเป้าหมายปริมาณขายสำหรับปี 2556 โดยประมาณ 70% เป็นการขายที่กำหนดราคาคงที่ จากสมมติฐานราคาถ่านหินอ้างอิง Barlow Jonker Index ที่ระดับ 85-95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันและแผนการลดต้นทุน คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ระดับ 750-900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
ขณะที่บริษัทมีกำหนดการชำระหนี้คืนปีละ 350-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานยังเพียงพอต่อแผนการลงทุน การจ่ายปันผลและการชำระหนี้ตามกำหนด บริษัทได้ทยอยซื้อหุ้นคืนตามโครงการที่ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 คาดว่าการซื้อหุ้นคืนตามโครงการจะใช้เงินประมาณ 4,000 ล้านบาท แผนการซื้อหุ้นคืนดังกล่าวจะทำให้อัตราส่วนการก่อหนี้เพิ่มขึ้นบางส่วนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนจะเป็นไปตามนโนบายโครงสร้างเงินทุนของบริษัท