ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 379,291 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 1, 2013 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (24 - 28 มิถุนายน 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 379,291 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 75,858 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 11% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 70% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 264,665 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 100,180 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,407 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB155A (อายุ 2.0 ปี) LB176A (อายุ 4.0 ปี) และ LB196A (อายุ 6.0 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 31,474 ล้านบาท 17,545 ล้านบาท และ 12,033 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13716A (อายุ 14 วัน) CB13725C (อายุ 28 วัน) และ CB13926B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 36,132 ล้านบาท 27,654 ล้านบาท และ 23,661 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท บางกอก มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส จำกัด รุ่น BMUL163A (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 302 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) รุ่น CPN171A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 300 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น TOP13OA (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 269 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น โดยเฉพาะตราสารหนี้อายุระหว่าง 5 ปีถึง 15 ปี ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ในช่วงประมาณ 10 ถึง 25 Basis Point ขณะที่ตราสารอายุน้อยกว่า 5 ปี ลดลงเล็กน้อย ประมาณ 1 ถึง 3 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ภายหลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน มิ.ย. ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ และยอดขายบ้านใหม่ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก และอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภค กลับถูกทบทวนโดยปรับลดลงจากระดับเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวอย่างจำกัด และอาจยังไม่แข็งแกร่งมากพอที่จะทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเร็วๆนี้ ส่งผลให้ตลาดเริ่มคลายความกังวลในประเด็นนี้ และมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้อีกครั้ง นอกจากนี้แล้วสภาพคล่องที่ตึงตัวในตลาดเงินของจีนเริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ภายหลังคำแถลงการณ์ของธนาคารกลางจีนที่พร้อมจะช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังจากอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคารพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์หน้า ยังคงมีความผันผวนจากประเด็นภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการใช้จ่ายในประเทศ การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางสัญญาณภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอกว่าที่คาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน และประเทศในกลุ่มยูโรโซน

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 2,104 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) 4,751 ล้านบาท แต่กลับซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,646 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย มียอด ซื้อสุทธิ 784 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ