(เพิ่มเติม) THAI ปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลังชดเชย Q2/56แย่ลงจาก FX ผันผวน-การแข่งขันสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 3, 2013 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย(THAI) คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2/56 จะออกมาไม่ดีนัก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน และการแข่งขันสูง แต่บริษัทยังคงเป้ารายได้ทั้งปี 56 ที่ 2.2 แสนล้านบาท เติบโต 11% จากปีก่อน โดยบริษัทจะมีการเพิ่มจุดบินไปยังญี่ปุ่นและจีน พร้อมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบิน หวังว่าจะช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปในไตรมาสที่ผ่านมา

นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพาณิชย์ THAI คาดว่า ผลประกอบการในไตรมาส 2/56 จะค่อนข้างย่ำแย่ จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึง 17-20% และเงินยูโรก็อ่อนค่าเช่นกันเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้รายได้และกำไรของบริษัทหลุดเป้าหมาย ประกอบกับ ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมสายการบินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในงวด 6 เดือนยังคาดว่าจะมีกำไรเล็กน้อย

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือในไตรมาส 3/56-ไตรมาส 4/56 บริษัทต้องปรับรุกธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นรายได้และกำไรขึ้นมาให้ทั้งปี 56 ได้ตามเป้าหมายที่รายได้เติบโต 11% มาที่ 2.2 แสนล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 6 พันล้านบาท

"ผลกระทบในไตรมาส 2 ค่อนข้างรุนแรงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แม้ Production เพิ่ม แต่คู่แข่งก็เพิ่มด้วย ทำให้ไตรมาส 2 cabin factor ต่ำกว่าประมาณการ เดือน พ.ค.ตกไปมาก จากผลกระทบไตรมาส 2 ต้องทบขึ้นมา 10-15%...target ต้องทำให้เพิ่มขึ้น ให้ได้ result โต 10-15%"นายโชคชัยกล่าว

อนึ่ง ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor)ของ THAI เฉลี่ยอยู่ที่ 76.3% เทียบกับงวดเดียวกันที่มีอัตรา 76.9%

นายโชคชัย กล่าวว่า บริษัทเพิ่มความถี่เที่ยวบิน และเปิดจุดบินใหม่ โดยเน้นตลาดญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายแรก ซึ่งคาดหวังจะได้ประโยชน์จากรัฐบาลญี่ปุ่นยกเว้นการทำวีซ่าและค่าเงินเยนอ่อนตัวจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากขึ้น ขณะที่เส้นทางไปยังจีนเป็นเป้าหมายรอง

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/56(ต.ค.-ธ.ค.)บริษัทจะเปิดจุดบินใหม่ในญี่ปุ่น 2 จุด คือ เมืองเซนไดและเมืองฮิโรชิมา พร้อมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินไปยังโตเกียว นาริตะ และซับโปโร

ส่วนในจีน จะเปิดจุดบินใหม่ไปยังเมืองฉงชิ่งและเมืองฉางซาที่มีประชากรมากและอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่า10% โดยใช้สายการบินไทยสมายล์ นอกจากนี้ จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินกรุงเทพ-มอสโควจาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยรวมในไตรมาส 4/56 คาดว่าจะมีที่นั่ง(capacity) เพิ่มขึ้น 15%

ขณะที่ตลาดยุโรปที่เป็นตลาดหลักยังไม่สู้ดีนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นเมื่อไร แต่สายการบินไทยยังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวยุโรปจึงยังคงมี cabin factor ในตลาดนี้ค่อนข้างสูง บริษัทเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เพื่อสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีรายจ่ายค่าน้ำมันเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่มีประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 40% ของค่าใช้จ่ายรวม

อย่างไรก็ตาม ในสิ้นปีนี้สัดส่วนรายได้จากตลาดยุโรปจะลดเหลือ 40% จากเดิม 45% ขณะที่ตลาดเอเชีย (regional) สัดส่วนเพิ่มเป็น 50% จาก 45% ส่วนตลาดในประเทศยังคงสัดส่วน 10%

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI คาดว่าบริษัทจะนำเสนอโครงการจัดหาเครื่องบินใหม่ ระยะที่ 2 ในช่วงปี 61-65 ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเดือน ส.ค.โดยอาจปรับลดจำนวนเหลือ 21 ลำ จากแผนเดิม 38 ลำ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ ซึ่งอาจจะจะเสนอต่อ ครม.เพิ่มเติมได้ในภายหลังหากมีความจำเป็น

"เราดูให้เหมาะสมอาจจะขออนุมัติ 21 ลำ ไม่จำเป็นต้องขอทีเดียว"นายสรจักร กล่าว

ทั้งนี้ แผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ในระยะแรก จำนวน 37 ลำ ในช่วงปี 54-60 วงเงิน 2.1 แสนล้านบาท จะช่วยประหยัดค่าน้ำมัน 3%ต่อปีตามแผนยุทธศาสตร์ โดยปีนี้รับมอบ 17 ลำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ