ทั้งนี้ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด โดยให้น้ำหนักที่วิกฤตยุโรป 50% การชะลอตัวเศรษฐกิจจีน 28% และปัญหาทางการคลังสหรัฐอเมริกา 22%
ส่วนปัจจัยด้านเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายของรัฐบาลยังอยู่ใน 3 อันดับแรกของปัจจัยเสี่ยงที่ผู้บริหารเห็นว่ามีผลต่อการขยายตัวของจีดีพี เช่นเดียวกับกับความผันผวนของค่าเงินบาท การลดลงของกำลังซื้อในประเทศ ที่เพิ่มขึ้นจากอันดับ 7 มาเป็นอันดับที่ 5 ขณะที่ค่าแรงลดลงจากอันดับ 5 ไปเป็นอันดับ 8
ในช่วงครึ่งปีหลังมองว่ายังมีความผันผวนหลายปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจจีน ยุโรป และ มาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ(QE)ของสหรัฐ การไหลของเงินจะลดลง ดังน้นบริษัทจดทะเบียนต้องปรับตัวให้มีการใช้เงินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และต้องเข้าใจกลไกตลาด
นอกจากนี้ จากผลสำรวจผู้บริหาร แสดงความเป็นห่วงเสถียรทางการเมืองของประเทศ โดยส่วนที่กระทบต่อบริษัทจดทะเบียนเป็นความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาล ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าว เรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นเหตุผลที่สังคมต้องการเห็นตัวเลขชัดเจนและถูกต้อง ขณะเดียวดันมองว่าเรื่องความโปร่งใสสำคัญกว่าตัวเลข ซึ่งหากชัดเจนตอบโจทย์ได้จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
"จากที่ได้ไปโรดโชว์ต่างประเทศ นักลงทุนก็ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างประเทศยังมีความมั่นใจเข้าลงทุนในประเทศไทย แต่เป็นห่วงเรื่องกลไกรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางตลาด หากปรับให้สอดคล้องก็จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา เพราะไทยยังน่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียน"นายสุรงค์ กล่าว
ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่นั้น นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย มองว่าในแง่ทีมเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นทั้งแนวทางแก้ไขเรื่องโครงการจำนำข้าว และการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และธุรกิจของตัวเอง ถึงแนวโน้มการลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้าพบว่ามีเพียง 7% ที่ลดการลงทุน โดยส่วนใหญ่ 73% ระบุว่าจะลงทุนเพิ่ม ซึ่ง 52% มีแผนจะลงทุนเพิ่มขึ้นบ้าง และ 21% คาดจะลงทุนเพิ่มขึ้นมาก บริษัทที่จะระดมทุน ระบุว่าเลือกใช้กำไรสะสม 52% ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 22% และออกหุ้นกู้ในประเทศ 31%
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลลบต่อแผนการลงทุน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ 79% และปัญหาการเมือง 63% ส่วนใน 6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยที่ผู้บริหารกังวลมากคือทีมและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล รองลงมาเสถียรภาพทางการเมือง
และจากการสำรวจสถานการณ์ภาคอสังหาฯของไทย ผู้บริหารส่วนใหญ่ 47% ไม่น่ากังวลเพราะยังไม่ร้อนแรงจนเรียกได้ว่าเป็นฟองสบู่ แต่ 30% เห็นว่าเกิดฟองสบู่แล้วและอาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต ส่วนค่าเงินบาท 42% เห็นควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะที่ 40%ควรเก็บภาษีเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาหาผลตอบแทนในระยะสั้น และ 18% ให้ลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า
ขณะที่โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ผู้บริหาร 60% เห็นว่ามีผลต่อสภาพคล่องในระบบไม่มาก เนื่องจากโครงการใหญ่มักมีความล่าช้าในการดำเนินการ และ 32% คาดจะยังไม่กระทบต่อสภาพคล่องในปีนี้แต่จะเริ่มมีผลปี 57