ซีออยล์ รอลุ้น ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่งเล็งเสนอขายหุ้น IPO-เข้าเทรด Q3/56

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 4, 2013 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวนีรชา ปานบุญห้อม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีออยล์ เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai)ภายในไตรมาส 3/56 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง) และล่าสุด ก.ล.ต.ได้เข้ามาเยี่ยมชมกิจการแล้ว

ทั้งนี้ ซีออยล์ มีทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท ซึ่งเรียกชำระแล้ว 110 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 110 ล้านหุ้น บริษัทประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นให้แก่ลูกค้าทางทะเลและลูกค้าทางบก รวมทั้งธุรกิจจัดหาอาหาร วัตถุดิบ และให้บริการอื่นๆ แก่ที่พักอาศัยในทะเล

บริษัทมีแผนจะเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ 70 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป 62,300,000 หุ้น คิดเป็น 34.61% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลังขายหุ้นเพิ่มทุน และเสนอขายต่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัท และบริษัทในกลุ่มของบริษัทแม่ 7,700,000 หุ้น คิดเป็น 4.28% วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ มีนโยบายจ่ายเงินปันผล 30% ของกำไรสุทธิ

การเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้มีบริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์

นางสาวนีรชา กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็น Service Provider ของผู้ใช้บริการทางทะเล ซึ่งขณะนี้บริษัทเป็นผู้ค้ามาตรา 10 ที่ไม่จำเป็นต้องมีการสำรองน้ำมัน แต่จะเป็นการซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศส่งต่อให้กับลูกค้าตามคำสั่งซื้อ พร้อมทั้งให้บริการส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ และเสบียงอาหาร รวมทั้งให้บริการด้านอื่น ๆ ตามที่ลูกค้าร้องขอ โดยลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ขณะนี้อยู่ในฝั่งอ่าวไทยทั้งผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เรือเดินทะเลประเภทต่าง ๆ และแหล่งขุดเจาะปิโตรเลียม อีกทั้งโรงอุตสาหกรรมบนบก และผู้ให้บริการด้านขนส่ง

บริษัทมองโอกาสที่จะขยายการให้บริการไปยังน่านน้ำฝั่งอันดามัน รวมถึงบนบก ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วประเทศ และธุรกิจ Oil&Gas โดยเฉพาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในจังหวัดต่างๆ โดยจะอาศัยเงินที่ระดมทุนได้จากการเสนอขายหุ้น IPO มาเป็นทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจากที่บริษัทมีวงเงินกู้เพื่อใช้เป็นทุนหทุนเวียนที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินราว 900-1 พันล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ที่ 1 เท่า ประกอบกับ มองว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของลูกค้าผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่

ผลประกอบการของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ในช่วงเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง(53-55)รายได้เติบโตเฉลี่ย 30% ยกเว้นปีก่อนที่มีการคัดเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพทำให้รายได้อาจไม่ได้เติบโตมากนัก ขณะที่กำไรเติบโตในอัตราที่มากกว่า โดยในปี 55 บริษัทมีรายได้ 2,700 ล้านบาท กำไรสุทธิ 63 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.35 บาท (กำไรตามงบการเงินปี 55 เมื่อคำนวณปรับลดเต็มที่ Fully Diluted)รายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริการน้ำมันปริมาณรวมกว่า 90 ล้านลิตร ส่วนรายได้บริการด้านอื่น ๆ ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งบริษัทมองว่าธุรกิจในส่วนนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นางสาวนีรชา กล่าวว่า บริษัทมีจุดเด่นที่มีต้นหลักคือต้นทุนทางการเงินที่ให้สินเชื่อกับลูกค้า แต่ไม่ได้มีกองเรือ หรือท่าเรือ เพราะการให้บริการส่วนใหญ่จะว่าจ้างเรือของเครือนทลินที่เป็นบริษัทแม่ ซึ่งมีเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่กว่า 30 ลำ และมีเรือที่มีลักษณะเป็น Storage ขนาดใหญ่กว่า 1 แสนตันที่ซีออยล์สามารถต่อยอดการให้บริการด้านต่าง ๆ ได้มาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรือ Storage ของบริษัทแม่ไปเทียบแท่นขุดเจาะกลางทะเลเพื่อให้บริการ ทางซีออยล์ก็จะเข้าไปให้บริการน้ำมัน และบริการอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ อีกต่อหนึ่ง

"เราอยากเป็นคนที่ลูกค้านึกถึงเมื่อจะใช้บริการทางทะเลทุกประเภท ต้องการน้ำมัน ขนส่งอุปกรณ์ รับ-ส่งเจ้าหน้าที่ หรือต้องการอาหาร ต้องนึกถึง ซีออยล์ก่อน...เรายังมองโอกาสที่จะขยายไปฝั่งอันดามัน และออนชอร์ด้วย"นางสาวนีรชา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ