ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร KGI ที่ BBB+ แนวโน้ม"Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 8, 2013 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI) ที่ระดับ “BBB+" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะเงินทุนที่เข้มแข็ง ตลอดจนความแข็งแกร่งของฐานรายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงความสามารถของบริษัทในการนำประสบการณ์และความรู้ของกลุ่มเคจีไอในไต้หวันซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายหลังการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดก็มีผลต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารกองทุนของ บลจ. วรรณ ได้ต่อไปแม้สภาพการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จะยังคงมีความผันผวนเป็นอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ การลงทุนในหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ได้

บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีแหล่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและไม่กระจุกตัวอยู่ที่รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก กล่าวคือ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รายได้จากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 50% ของรายได้รวมเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่สูงกว่า 70% การขยายฐานรายได้ในส่วนที่ไม่ได้มาจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะช่วยให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นภายหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

ส่วนกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 23%-41% ของรายได้รวมมาจากธุรกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ ธุรกิจการซื้อคืนภาคเอกชน การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด ตลอดจนการลงทุนของบริษัทในตราสารหนี้และตราสารทุน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้สม่ำเสมอจากการบริหารจัดการกองทุนของ บลจ.วรรณ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 99% ด้วย ทั้งนี้ รายได้จากการบริหารจัดการกองทุนถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรายได้อื่น ๆ ของธุรกิจหลักทรัพย์

บริษัทจัดได้ว่าเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยมีความได้เปรียบจากการนำความรู้ทางวิศวกรรมการเงินตลอดจนประสบการณ์ของกลุ่มเคจีไอ ไต้หวัน ซึ่งอยู่ในตลาดการเงินที่มีการพัฒนามากกว่ามาใช้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ในประเทศไทย การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจะช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการบริการที่แตกต่างกันเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัท บริษัทพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องให้ล้ำหน้าคู่แข่งเพื่อจะมีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรที่สูงก่อนที่จะเกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาด

ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 คงอยู่ที่ 3.6% (อันดับ 12) ซึ่งใกล้เคียงกับส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัททั้งปีในปี 2555 แต่ยังคงต่ำกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.5% (อันดับ 9) บริษัทมีการพึ่งพาลูกค้ารายใหญ่อยู่ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามูลค่าซื้อขายจากลูกค้ารายใหญ่ 20 รายแรกคิดเป็นกว่า 40% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดของบริษัท (ไม่รวมการซื้อขายในบัญชีของบริษัท) เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองค่อนข้างสูง จึงอาจทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทได้รับผลกระทบจากการแข่งขันได้มากกว่า

การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัททำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาด บริษัทมีเงินลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยบริษัทจัดว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรม บริษัทมีการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อันนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิต ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 1.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เทียบกับระดับต่ำกว่า 1.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 และ 2555 อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อดังกล่าวจัดว่าอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้กับคู่แข่ง กล่าวคือคิดเป็น 3% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรม และคิดเป็น 33% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท

บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 443 ล้านบาทในปี 2555 เทียบกับ 594 ล้านบาทในปี 2554 และ 753 ล้านบาทในปี 2553 การลดลงของผลกำไรสุทธิในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกิดจากการลดลงของกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ การที่ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่นใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ได้พัฒนาและเข้าสู่จุดอิ่มตัวมากขึ้นทำให้กำไรจากการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลดลงจากช่วงแรกที่บริษัทควบคุมตลาดได้มากกว่านี้ โดยกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ลดลงจาก 948 ล้านบาทในปี 2553 เหลือ 798 ล้านบาทในปี 2554 และเหลือเพียง 467 ล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิของบริษัทยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 57% ในปี 2555 เทียบกับ 51% ในปี 2554 และ 48% ในปี 2553

อัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2555 เทียบกับ 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2554 และ 2.2 เท่า ณ สิ้นปี 2553 บริษัทได้ลดขนาดของเงินลงทุนลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ก่อนจะกลับมาขยายเงินลงทุนอีกครั้งในปี 2555 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2555 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 74% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ 7% ตามที่ทางการกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ