MSCI แนะกองทุนปรับระบบบริหารความเสี่ยงรับความผันผวนโลกการลงทุนยุคใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 8, 2013 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราช มังฮานี กรรมการผู้จัดการ เอ็มเอสซีไอ (MSCI) กล่าวในงาน GPF Symposium 2013 ว่า การลงทุนทุกวันนี้มีความเชื่อมโยงถึงกัน และซับซ้อนมากขึ้น เมื่อสถาบันการเงินใดประสบปัญหาทางการเงินจะส่งผลกระทบต่อตลาดการลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“วิกฤติการเงินที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า กองทุนและสถาบันการเงินต่างๆ บริหารจัดการความเสี่ยงองค์รวมแบบไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นักลงทุนไม่ค่อยมีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปลงทุนมาก ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงซ่อนเร้นของสินทรัพย์ที่ลงทุน ดังนั้น หากต้องการให้หลุดพ้นจากความผันผวน หรือความไม่แน่นอนของการลงทุนในอนาคต ก็ต้องจดจำข้อผิดพลาดในอดีต พยายามหลีกเลี่ยง อย่าให้ซ้ำรอยเดิม และต้องสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนมากขึ้น(Robust Portfolio) การบริหารจัดการความเสี่ยงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว"นายราช กล่าว

นายราช กล่าวว่า สำหรับแนวทางบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนนั้น ควรพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงของสินทรัพย์การลงทุนแต่ละประเภท(Asset Class) ซึ่งมีผลกระทบต่อผลตอบแทนระยะยาว และต้องลงรายละเอียดของสินทรัพย์ในประเภทหรือชนิดเดียวกันอย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้ผู้จัดการกองทุนเข้าใจมากขึ้นว่า ปัจจัยตัวใดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง และมีนัยต่อผลตอบแทนมากที่สุด

อีกทั้งหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความซับซ้อนมากเกินไป เข้าใจยาก หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยง เพราะหากเกิดวิกฤตการณ์อาจจะสร้างความเสียหายได้มากกว่า

นอกจากนี้ ปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลด หรือ เพิ่มความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ

อีกทั้ง สร้างระบบการบริหารความเสี่ยงแบบรวมศูนย์(Integrated Risk Management)ที่รวมศูนย์ตั้งแต่การมองภาพใหญ่ไปจนถึงภาพย่อยๆ โดยฝ่ายลงทุนกับฝ่ายบริหารความเสี่ยงการลงทุนต้องทำงานร่วมกัน และควรสร้างเครื่องมือที่คอยเตือนความเสี่ยงประเภทต่างๆ ทำรายงานสถานะความเสี่ยงการลงทุน(Risk dashboard) เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในทุกมุมมอง รวมถึงต้องตรวจตราการกระจุกตัวของความเสี่ยงด้วย

ทั้งนี้ ระบบการบริหารความเสี่ยงแบบรวมศูนย์ที่ดีทำให้สามารถวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อการลงทุน (Scenario Analysis) และวิเคราะห์ผลกระทบในสถานการณ์วิกฤติ (Stress Test) เพื่อประโยชน์ในการบริหารการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


แท็ก เอสซี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ