อย่างไรก็ตาม ThaiBMA ยังคงประมาณการมูลค่าของหุ้นกู้ออกใหม่ตลอดทั้งปี 56 ที่ประมาณ 360,000-400,000 ล้านบาท
แนวโน้มของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 56 คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งปัจจัยภายในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศ
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมตลาดทั้งในฝั่งของนักลงทุน และในฝั่งของผู้ค้าตราสารหนี้คาดว่าปัจจัยหลักที่จะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงถัดไป อยู่ที่ตัวเลขที่แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และการดำเนินนโยบายของ ธปท.ในการรักษาเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้แล้วกระแสเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าออกประเทศไทย รวมถึงความชัดเจนของการดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ล้วนแต่เป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน
สำหรับภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยช่วงครึ่งแรกของปี 56 ในส่วนของตลาดแรก (Primary Market) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตราสารหนี้ระยะยาวของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมูลค่าคงค้าง (Outstanding) ของตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกัน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 เท่ากับ 8.88 ล้านล้านบาท
ส่วนความเคลื่อนไหวในตลาดรอง พบว่าการซื้อขายตราสารหนี้ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 11.95 ล้านล้านบาท พบว่าการซื้อขายตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 56 (ไม่รวมตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี) อยู่ที่ประมาณวันละ 37,345 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 55 ถึง 102%
นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปี(Net Buy)อยู่ประมาณ 123,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.56 นักลงทุนต่างชาติเริ่มทำการขายตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวมกัน 53,000 ล้านบาท บวกกับตราสารหนี้เดิมที่ถือครองอยู่และหมดอายุไปโดยไม่ได้ทำการลงทุนซ้ำอีกจำนวน 41,000 ล้านบาท ทำให้โดยรวมแล้วมีเงินไหลออก (Out-flow) จากตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือน กว่า 94,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 56 มาอยู่ที่ 772,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 55
ด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นไตรมาส 2/56 เทียบกับ ณ สิ้นปี 55 พบว่าอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงในตราสารหนี้ระยะสั้น แต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในตราสารหนี้ระยะยาว โดยผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลงประมาณ 15 basis point (100 basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ตามการปรับลดของดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) เพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ +20 ถึง +35 bp ตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนของ US Treasury