ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 350,880 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 15, 2013 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ ภาวะตลาดตราสารหนี้ (8 - 12 กรกฎาคม 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 350,880 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 70,176 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 18% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 77% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 270,169 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 71,175 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,911 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB155A (อายุ 1.9 ปี) LB176A (อายุ 3.9 ปี) และ LB21DA (อายุ 8.4 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 20,620 ล้านบาท 15,709 ล้านบาท และ 9,957 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13730A (อายุ 14 วัน) CB13808C (อายุ 28 วัน) และ CB13O10B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 37,146 ล้านบาท 27,919 ล้านบาท และ 24,856 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) รุ่น HEMRAJ231A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 423 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) รุ่น IRPC147A (A-(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 407 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT14DA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 401 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ค่อนข้างนิ่ง ในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุน้อยกว่า 10 ปี ขณะที่ตราสารอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ปรับตัวลดลงในช่วงประมาณ -2 ถึง -4 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ในช่วงต้นสัปดาห์ตลาดยังมีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรลงภายในปีนี้ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ประกอบกับนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุน หลังราคาพันธบัตรปรับตัวลดลงไปมากในช่วงก่อนหน้า รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่สะท้อนว่า Fed ยังคงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรอบคอบ ก่อนจะเริ่มชะลอการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE และระบุว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในช่วงระยะเวลาข้างหน้านี้, ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. ที่หดตัวลง 3.1% และการที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลงมาอยู่ที่ “BBB” รวมไปถึงสัญญาณการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำในช่วง 1 ปีข้างหน้าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป โดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดแรงซื้อในตลาดพันธบัตร ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง สำหรับทิศทางภาวะตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์หน้า คงต้องจับตากระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ, ข้อมูล GDP ประจำไตรมาส 2/2556 ของจีน และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ของสหรัฐฯ

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 286 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) 3,523 ล้านบาท แต่กลับซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,237 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย มียอด ซื้อสุทธิ 885 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ