(เพิ่มเติม) กพช.ไฟเขียวสนับสนุนติดตั้ง Solar Rooftop รับซื้อไฟฟ้า 200 เมกะวัตต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 16, 2013 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี โดยจัดให้มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวในปี 56 รวม 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่อีก 100 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.56

สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้า FIT แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

  • กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 10 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.96 บาท/หน่วย
  • กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง >10-250 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.55 บาท/หน่วย
  • กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง >250-1,000 กิโลวัตต์ อัตรา FIT 6.16 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ กพช.มอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า รวมถึงหลักเกณฑ์และการออกประกาศเชิญชวน พร้อมกำหนดอัตราการลดหย่อนค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเพื่อเป็นเกณฑ์ให้การไฟฟ้าลดหย่อนให้กลุ่มบ้านอยู่อาศัย

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้รายงานปัญหา อุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาปริมาณคำร้องขอเสนอขายไฟฟ้าที่มีมากกว่าเป้าหมายตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) หรือแผน AEDP ปัญหาการกำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าและวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในแต่ละปีไม่สอดคล้องตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาตต่างๆ

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุม กพช.จึงเห็นชอบให้กำหนดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแต่ละปีให้ชัดเจนเพิ่มเติมจากปริมาณเสนอขายไฟฟ้าที่คาดว่าจะจ่ายเข้าระบบ และกำหนดวันเริ่มซื้อขายไฟให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแต่ละประเภทเชื้อเพลิง โดยให้สอดคล้องกับแผน PDP ทั้งนี้ให้มีการเปิดรับข้อเสนอขายไฟฟ้ารายใหม่โดยรับการส่งเสริมในรูปแบบ Feed-in Tariff ตามปริมาณรับซื้อที่จะมีการประกาศเป็นรายเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ได้เห็นชอบให้ กกพ. การเร่งรัดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามเป้าหมาย AEDP และรายงานผลให้กระทรวงพลังงานทราบเป็นรายไตรมาส รวมทั้งให้ กฟผ.ร่วมกับ กกพ. จัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการพลังงานหมุนเวียนที่มีสัญญาซื้อขายแล้วอย่างเร่งด่วนและรายงานผลให้ กพช. ทราบ

และให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)จัดทำแผนการลงทุนระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Grid) มาประกอบการจัดทำ ขณะเดียวกันให้ กกพ.เร่งรัดออกใบอนุญาตสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ One Stop Service และรายงานผลดำเนินงานให้ กพช. ทราบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ