CKP พร้อมโตก้าวกระโดด 20% ต่อปี,วางแผนเพิ่มผลิตไฟฟ้า 2 พัน MW ใน 10 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 17, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ซีเค พาวเวอร์(CKP)วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเติบโต 20% ต่อปี โดยในช่วง 5-10 ปีนี้จะมีเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 2,320 เมกะวัตต์ในปี 62 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 875 เมกะวัตต์ พร้อมกันนั้น ยังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเข้ามาอีกประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปีนี้ เนื่องจากฐานการผลิตไฟฟ้าของบริษัทยังต่ำอยู่

CKP เป็นบริษัทโฮลดิ้งในธุรกิจพลังงานของกลุ่ม ช.การช่าง(CK) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งแห่งแรกภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพยื(ก.ล.ต.)ที่กระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปและนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์(SET)วันแรกพรุ่งนี้ จากราคาเสนอขายประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)ที่ 13 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าทางบัญชีที่ 1.28 เท่า

นางสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP กล่าวว่า การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตตามไปด้วย และจะกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าชนิดอื่น และอนาคตมีโอกาสได้โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว เพิ่มขึ้นด้วย

"เราไม่เหมือนบริษัทผลิตไฟฟ้าอื่นๆ เพราะว่าบริษัทอื่นเขามีฐานใหญ่อยู่แล้วกำลังงการผลิตไฟฟ้ามีมากแล้ว อัตราการเติบโตประมาณ 3-5% ต่อปี แต่จุดเด่นของเราคือเติบโตก้าวกระโดด เพราะบริษัทเริ่มจากฐานน้อย เราคาดว่าศักยภาพที่จะเติบโตได้ 20%ต่อปี รายได้ก็น่าจะไปตามกำลังการผลิตที่เติบโต" กรรมการผู้จัดการ CKP ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"

บริษัทคาดว่าในปีนี้ผลดำเนินงานจะดีกว่าปีที่แล้วที่มีรายได้ 2.58 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 55 ล้านบาท เพราะปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 3 แห่งเต็มปี และช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากบางปะอิน โคเจนเนอร์เรชั่น เฟส 1 อีกด้วย

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมบางปะอินโคเจนเนอร์เรชั่น(BIC)เฟส 1 ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิต 117.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 19.6 ตันต่อชั่วโมงซึ่งราคาขายไฟฟ้าได้สูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์

"คาดว่าในไตรมาส 3 รายได้จากโรงไฟฟ้าที่บางปะอิน จะเข้ามาอย่างมีสาระสำคัญพอสมควร ก็จะช่วย add ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นมากจากช่วงครึ่งปีแรก"นางสุภามาส กล่าว

ในไตรมาส 1/56 CKP มีรายได้ 1.2 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 93 ล้านบาท ขณะที่ในปี 55 บริษัทมีรายได้ 2.58 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 55 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ บางเขนชัย (ถือ 100%) รับรู้รายได้เต็มไตรมาส 1/56 EBITDA Margin สูงถึง 81% อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมมีต้นทุนผันแปรคือค่า ก๊าซที่ปรับขึ้นได้ที่อาจจะทำให้ EBITDA Margin ลดลงได้บ้าง

นางสุภามาศ กล่าวว่า บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในช่วง 5-10 ปีนี้ โดยตามแผน CKP จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 2,320 เมกะวัตต์นปี 62 จากปัจจุบันอยู่ที่ 875 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้ผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดด และในภายใน 10 ปีจะเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มมาเป็น 4,280 เมกะวัตต์ จากการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว และ โรงไฟฟ้า SPP ในประเทศ ทั้งนี้ บริษัทมีโครงการที่จะเดินหน้าตามแผน 3 โครงการภายในปี 62 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เฟส 2 กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง มีสัญญาขายไฟกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)90 เกะวัตต์ และที่เหลือ 30 เมกะวัตต์ รวมไอน้ำจะขายให้โรงงานในนิคมฯบางปะอิน คาดจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD)ในปี60

โรงไฟฟ้าน้ำบาก เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าทั้งหมดให้กับบริษัท อิเลกตริไซต์ ดู ลาว เจเนอเรชั่น(EDL-Gen)ของสปป.ลาว คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟในปี 62

โครงการไซยะบุรี(XPCL)ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยบมจ.ช การ ช่าง(CK)คาดว่าจะสร้างเสร็จและจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 62 ทั้งนี้ บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นที่ CK ถืออยู่ 30% และบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ ถืออยู่ 7.5% ในช่วงที่โครงการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เพราะจะไม่ต้องรับความเสี่ยงมาก ส่วนราคาคงต้องมีการตกลงกันต่อไป

นอกจากนั้น บริษัทได้มองหาโอกาสขยายกำลังผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาวประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จากที่รัฐบาลลาว กำหนดแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำรวม 21,230 เมกะวัตต์ โดยดำเนินการไปแล้ว 2,549 เมกะวัตต์ และส่วนที่กำลังก่อสร้างมีจำนวน 4,893 เมกะวัตต์ ดังนั้น ยังมีเหลืออีกจำนวน 13,789 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันบริษัทจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าในธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP)ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้ได้เตรียมพื้นที่ไว้ 4 ทำเล สำหรับตั้งโรงไฟฟ้า SPP 8 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 120 เมกะวัตต์ เพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่คาดว่าทางการจะเปิดปลายปีนี้

นางสุภามาศ กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินปันผลในปีแรกที่เข้าตลาดหุ้นมากน้อยอย่างไรขึ้นกับผลการดำนเนินงาน ถ้ามีกำไรสุทธิ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องบริหารให้สมดุลกันระหว่างการจ่ายเงินปันผล และการกันไว้เพื่อใช้การลงทุนในอนาคตต่อไป เพราะเชื่อว่าในระยะยาวจะเป็นประโยชน์ก้บทุกฝ่ายที่จะมีผลตอบแทนกลับมาที่ดี รวมทั้งจะมีศักยภาพที่จ่ายเงินปันผลได้ดีขึ้นจากการลงทุนเพิ่ม

"เราอยากมี dividend ที่ดี ขณะเดียวกันเราก็อยากเป็น Growth Stock ด้วย เราก็ต้องจัดให้สมดุล โดยแบ่งส่วนหนึ่งไปลงทุน และจ่ายเงินปันผล เราเป็น Defensive ที่มี Growth เราต่างจากโฮลดิ้งอื่นที่นิ่งให้แต่เงินปันผล แต่ของเราให้เงินปันผลที่เหมาะสม และอีกส่วนลงทุนเพิ่มเพื่อการเติบโต ซึ่งเราใส่ไว้เส้นทางของเรา ฉะนั้นก็ต้องบาลานซ์ให้ดี"

"เชื่อว่า CKP จะเป็นหุ้นที่เหมาะกับนักลงทุน ที่มองเป็นธุรกิจความเสี่ยงน้อย เพราะเป็นหุ้น Defensive ที่คาดว่าจะเป็นผู้ที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ นอกจากนั้น เรายังแตกต่าง จากหุ้น defensive ที่มี Growth story ชัดเจน เราก็มองว่า นอกจากเป็น denfensive และมี Growth ก็จะเพิ่ม Value หุ้น CKP ในอนาคต"นางสุภามาศ กล่าว

นางสุภามาส มั่นใจว่าราคาเทรดวันแรกจะสูงกว่าราคาจอง และหากราคาในระยะสั้นผันผวนตามภาวะตลาดหุ้น แต่เชื่อมั่นว่าในระยะยาว หุ้น CKP ให้ผลตอบแทนที่ดี ขณะที่นักวิเคราะห์ก็ให้ราคาเป้าหมายมากกว่า 20 บาท/หุ้น ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ บริษัทได้รับการยืนยันว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CKP ได้แก่ บมจ.ช.การช่าง(CK) ถือหุ้น 32% บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ถือหุ้น 23% และ บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) ถืออยู่ 25% ว่าไม่ขายหุ้น CKP ออกมาทำกำไรแน่นอน หลัง CKP เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์

ปัจจุบัน CKP ถือหุ้นใน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด(SEAN) 56% ซึ่ง SEAN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำงึม 2 ในประเทศ สปป.ลาว ขนาด 615 เมกะวัตต์, ลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเข้าถือหุ้นใน บริษัท บางเขนชัย จำกัด สัดส่วน 100% ขนาด 8 เมกะวัตต์ บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ถือหุ้น 30% มีกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ และ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ขนาด 8 เมกะวัตต์ ถือหุ้น 30% นอกจากนี้ บริษัทถือหุ้น 65% ในบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ