กสทช.คาดคลอด TOR ทีวีดิจิตอล 14 ส.ค.เปิดประมูลได้ ต.ค.-พ.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 17, 2013 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตันทสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยหลังการประชุม กสทช. ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. เห็นชอบร่างประกาศ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการประมูลทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ตั้งข้อสังเกตการครองสิทธิข้ามสื่อ เนื่องจากกฎหมายกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ มาตรา 31 ระบุว่าห้ามการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ ระหว่างสื่อประเภทต่างๆ จึงให้สำนักงาน กสทช.ไปจัดทำร่างประกาศเพิ่มเติม เพื่อประกาศออกมาประมาณในวันที่ 14 สิงหาคมนี้ รวมถึงตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดทำ Platform การใช้คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่ง กสท.เห็นว่ายังมีอุปสรรค เนื่องจากต้องจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 470-510 MHz ให้กับกิจการโทรทัศน์เช่นเดียวกับมาตรฐานโลกก่อน วันนี้ที่ประชุมฯ จึงมีมติเห็นชอบจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแผนคลื่นความถี่ เพื่อให้สอดคล้องกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU)

"โดยเจตนาของ กสทช.ไม่ต้องการให้ประชาชนรับสื่อเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อชักจูงแนวคิดแบบผูกขาดมากเกินไป คาดว่าร่างประกาศด้านครองสิทธิ์ข้ามสื่อจะประกาศออกมาได้ก่อนจะมีการประมูล ดังนั้นกิจการหนังสือพิมพ์จึงสามารถยื่นประมูลทีวีดิจิตอลได้ นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการห้ามไม่ให้เอกชนผู้เข้าร่วมประมูลช่องข่าวและสาระกับช่องความคมชัดสูง(HD) เป็นคนกลุ่มเดียวกัน โดยไม่เกี่ยวข้องกันทั้งการถือหุ้นไขว้ การบริหาร และการใช้เงินทุนตั้งบริษัทต้องไม่มีความเกี่ยวพันกัน" นายฐากร กล่าว

ที่ประชุมฯ ยังได้ให้ข้อสังเกตุและเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป และเห็นชอบการปรับปรุง(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และรับรองการปฎิบัติตามเงื่อนไขการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง แนบท้ายประกาศ กสทช.ดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... และเห็นชอบให้นำร่างประกาศดังกล่าวออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป

ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์ โดยมีมติเห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่และการคืนคลื่นความถี่ ดังนี้ 1.ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 5 จัดทำแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะประเภทที่สอง ต่อ กสท.เพื่อพิจารณาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีมติ และแผนดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดของการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต

2.ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ นำเสนอแผนแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะประเภทที่สาม ต่อ กสท.เพื่อพิจารณาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีมติ และแผนดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดของการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต

3.กรณีสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย(ไทยพีบีเอส) องค์การกระจายเสียงและแพร่กระจายภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สทท.) เห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ตามมาตรา 83 วรรค 3 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ภายในระยะเวลาการอนุญาตให้ประกอบกิจการและใช้คลื่นความถี่ที่เหลืออยู่ 1 ปี และสามารถต่ออายุได้ปีต่อปี

อีกทั้ง ที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาขนทั่วไปและเห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับสถานีฐานขนาดเล็ก พ.ศ. ... โดยหลังจากนี้จะนำร่างประกาศ กสทช.ดังกล่าว เสนอต่อประธาน กสทช.เพื่อลงนามและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้เรื่องการปรับเพิ่มราคาประมูลช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากเดิมให้เคาะราคาได้ครั้งละ 1 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2 ล้านบาท เพื่อลดเวลาและความสะดวกในการประมูล ส่วนข้อกำหนดเนื้อหาสาระของช่องข่าว จากเดิมให้มีสัดส่วนการเสนอข่าวและสาระไม่ต่ำกว่า 75% ให้ปรับลดลงมาเหลือ 50% ต้องเน้นการนำเสนอข่าว ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ โดยเป็นช่วงที่ประชาชนนิยมในการรับชมมากที่สุด โดยสำนักงาน กสทช.ได้ยืนยันต่อที่ประชุมฯ ว่า การปรับลดสัดส่วนเนื้อหาข่าวเหลือ 50% ของเวลาออกอากาศทั้งหมดนั้น ไม่ส่งผลต่อการศึกษากำหนดราคาประมูลเริ่มต้น 220 ล้านบาท ซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่แรก พร้อมนำผลการศึกษาในการกำหนดราคาขึ้นเว็บไซต์ให้ประชาชนรับทราบด้วย

สำหรับการกำหนดช่องรายการทั่วไประบบ HD จำนวน 7 ช่อง ราคาประมูลต่ำสุด 1,510 ล้านบท กำหนดให้เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 10 ล้านบาท, ช่องรายการทั่วไประบบ SD จำนวน 7 ช่อง ราคาต่ำสุด 380 ล้านบาท ให้เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 5 ล้านบาท, ช่องรายการข่าว ระบบ SD จำนวน 7 ช่อง ราคาต่ำสุด 220 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 2 ล้านบาท และช่องรายการเด็ก ราคาต่ำสุด 140 ล้านบาท จำนวน 3 ช่อง เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 2 ล้านบาท

เมื่อร่างประกาศเงื่อนไขการประมูลทีวีดิจิตอล มีผลบังคับใช้ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ และการประกาศเรื่องสิทธิ์ครองสื่อเพิ่มเติม จะทำให้ขั้นตอนการประมูลเริ่มได้ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ