MBKET มองตลาดพันธบัตร-ตลาดหุ้นยังผันผวนหาจุดสมดุล/เล็งปรับลดกำไรบจ. ตามศก.ชะลอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 18, 2013 16:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)หรือ MBKET กล่าวในการเสวนาหัวข้อ“จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก: โอกาสและความท้าทายในการลงทุน”ว่า ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นของไทยอยู่ระหว่างหาจุดสมดุลที่เหมาะสม จึงทำให้ในไตรมาส 3/56 ประเมินทิศทางได้ยาก เนื่องจากยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยหลัก คือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แนวโน้มผลตอบแทนของพันธบัตร และ อัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ มองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่แนวรับ 1,250 จุด และแนวต้าน 1,550 จุด และคาดว่าทั้งปี 56 ดัชนีจะอยู่ที่ 1,550 จุด ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่าการทบทวนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจจะมีการปรับลดลงไปบ้างตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก จากเดิมที่คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 25% และกำไรต่อหุ้นเติบโต 20%

นายสุกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพิ่มเติมมากกว่านี้ แต่อยากเห็นภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะสามารถช่วยให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และ จะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึงปีละ 4-5%

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะยังสามารถฟื้นตัวได้ ส่วนมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE ของสหรัฐฯ อาจจะมีการเลื่อนออกไป จากที่คาดว่าจะเริ่มลดปริมาณ QE ได้ในช่วงสิ้นปีนี้ เพระปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่เป็นการฟื้นตัวที่แท้จริง ซึ่งยังคงมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกของต่างชาติที่จะยังมีการไหลออกต่อเนื่องเพราะปัจจุบันทั่วโลกยังมีการจับตามถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นหลัก ส่งผลให้มีความผันผวนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี ที่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนที่มีการชะลอตัวลง กลุ่มธนาคาร อาจจะมีความเสี่ยงจาก NPL ที่ปรับตัวขึ้น กลุ่มยานยนต์ คาดว่ายอดขายจะปรับตัวลดลงบ้าง เนื่องจากไม่ได้มีนโยบายกระตุ้นเพิ่มเติม ทำให้ยอดขายกลับสู่ภาวะปกติ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อาจจะมีผลกระทบในด้านของการชะลอการส่งมอบบ้าง

ขณะที่แนวโน้มผลตอบแทนของพันธบัตร และ อัตราแลกเปลี่ยน โดยหากเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าอยู่ คงจะยังไม่มีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงไตรมาส 4/56

ด้านนายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บล.บัวหลวง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการเติบโตที่น้อยกว่า 5% จากที่ได้มีการประเมินจากจากหลายหน่วยงาน คาดว่าเศรษฐกิจอาจจะมีการชะลอตัวลงจากในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนและครัวเรือนยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้าง อย่างไรก็ตาม มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก ในเวลานี้ควรจะมีการดูแลให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่า เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเศรษฐกิจไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่

ส่วนตลาดเงิน ขณะนี้ยังมีความผันผวนอยู่ จึงแนะนำให้นักลงทุนควรมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

ขณะที่นายยรรยง ไทยเจริญ หัวหน้านักยุทธศาสตร์อาวุโส กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. มีเครื่องมือและกรอบในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เป็นเป้าหมายหลัก โดยจะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆก่อน เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย คือ การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประเทศหลักใหญ่ๆ 3 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ส่งผลให้การเงินทั่วโลกในปัจจุบันมีความผันผวน

ส่วนเงินทุนที่มีการเคลื่อนย้ายนั้นส่วนใหญ่ไหลกลับไปยังสหรัฐเพิ่มมากขึ้น จากสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาที่อยู่ในทิศทางเดียวกับภาวะเงินทุนที่ไหลออกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทางภาครัฐ ควรที่จะมีมาตรการในการส่งเสริมและดูแลเศรษฐกิจให้มีความแตกต่าง เพื่อดึงดูดความสนใจให้มีเงินลงทุนให้กลับมาในประเทศเหมือนช่วงก่อนหน้านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ