อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาภายในสำนักงานกสทช. รวมทั้งมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตจะเริ่มเปลี่ยนไปโดยโทรศัพท์มือถือเริ่มเข้ามากินสัดส่วนแบนด์วิธมากขึ้นและจะเติบโตเป็น 2 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเป็นลักษณะการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ เช่น ทีวีเชื่อมต่อกับตู้เย็น สั่งงานได้อัตโนมัติ
นายเจษฎา กล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางการบริหารคลื่นความถี่ว่า การบริหารคลื่นความถี่จากเดิมในอดีตคลื่นความถี่ถูกบริหารโดยผู้ใช้ด้วยกันเอง ไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐหรือองค์กรกำกับดูแล จากนั้นพฤติกรรมการใช้คลื่นของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปมีการนำคลื่นมาใช้งานมากขึ้น รัฐจึงมองว่าใช้คลื่นความถี่ควรถูกบริหารโดยรัฐ หรือองค์กรกำกับดูแล เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประเภทเดียวกับที่ดิน ดังนั้นจึงเกิดการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีประมูล แต่ยังคงมีคลื่นบางส่วน เช่น WIFI และ BLUETOOTH ที่สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องทำการประมูล
ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่าการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีประมูล เป็นช่องทางที่ทำให้รัฐ กับ ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเข้ามาหาประโยชน์จากผู้ที่เข้าไปใช้ กสทช.จึงมีความคิดว่าจะนำคลื่นอะนาล็อก หรือไวท์ สเปซ ที่ว่างอยู่จากช่วงความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานของช่องทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 มาให้บริการฟรีในรูปแบบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดขัด พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่มาตรา 46 หากจะทำให้สามารถใช้งานได้ต้องแก้กฎหมายดังกล่าวนี้เสียก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่บมจ. การบินไทย (THAI) ติดต่อขอความชัดเจนในการนำคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมเพื่อเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายหรือ WiFi และโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครื่องบิน เช่นหลายประเทศที่เปิดให้บริการไปแล้ว ภายใต้การให้บริการของบริษัทเอกชน แอร์โรว์โมบายและออนแอร์ แต่การจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศไทยมีกฏหมายต้องจัดสรรด้วยการประมูล และการบินไทยไม่สามารถดำเนินการให้บริการด้วยตนเองต้องดำเนินการผ่าน 2 บริษัทเอกชนเบื้องต้นซึ่งก็ไม่สามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ในประเทศไทยได้ ทำให้ขณะนี้การเปิดให้บริการ WiFi บนสายการบินไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้
ประกอบกับตามกฏหมายอากาศยานหรือเครื่องบินของประเทศใดเมื่อเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆก็นับเป็นแผ่นดินของประเทศนั้นและการจะเปิดให้บริการ WiFi บนเครื่องบินเท่ากับเปิดให้บริการด้วยความถี่ในประเทศไทยจึงต้องมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 45 และมาตรา 46 โดยขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างศึกษาทางออกและแนวทางความเป็นไปได้ในการจะจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการดังกล่าว
สำหรับการให้บริการ WiFi บนเครื่องบินเพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ จะให้บริการด้วยคลื่นความ 2.1 GHz โดยติดตั้งสถานีฐานปล่อยสัญญาณ WiFi ในตัวเครื่องบินเพื่อเปิดให้บริการเมื่อเครื่องบินขึ้นอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสมและไม่รบกวนระบบนำร่องการบิน