SPC ทั้ง 7 แห่งจะแบ่งการลงทุนได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้า, น้ำประปา, ถนน, นิคมอุตสาหกรรมและTownship, ท่าเรือ, รถไฟ และ โทรคมนาคม
ทั้งนี้ ทางบริษัทได้เจรจาผู้สนใจเข้าร่วมทุนงานสร้างถนน โดยเจรจากับเจ็ทเวย์จากญี่ปุ่น ซึ่งจะทำถนน 2 เลนจากชายแดนไทยบริเวณน้ำพุร้อนถึงโครงการทวาย(รวมถนนหลักในโครงการทวาย) ระยะทางราว 160 กม.
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมและเมือง(Township) ได้เจรจากับกลุ่ม บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) เข้ามาบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มไดวาจากญี่ป่นจะมาช่วยสร้าง Township ทั้งนี้ เฟสแรกหรือ เฟส 0 จะรองรับ Early Industry ใช้พื้นที่ 10 ตร.กม. หรือ 6,250 ไร่ ประกอบด้วย 7 โซน ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ , อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมยาง, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ , อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และ อุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเล โดยพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดในโครงการทวายจะมีสัดส่วน 70% ของพื้นที่ทั้งหมด
ด้านท่าเรือ จะมีการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)เข้าร่วม รวมทั้งยังมีการท่าเรือของสิงคโปร์และผู้ลงทุนฝ่ายญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มแรกจะสร้างเป็นท่าเรือขนาดเล็กก่อนที่รองรับน้ำหนักเรือได้ 13,000 เดทเวทตัน หรือรองรับเรือบรรทุกตู้สินค้าได้ราว 400 TEU
ขณะที่อีก 2 ธุรกิจคือ ไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเจรจาผู้เข้าร่วมทุน ซึ่งขณะนี้มีมิตซุยและมิตซูบิชิจากญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมด้วย ส่วนน้ำประปา จะให้บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) และ บริษัท เอ็กคอมธารา จำกัด เข้ามาถือหุ้นร่วมผลิตและจัดการบริหารน้ำประปาภายในโครงการทั้งหมด
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม ขณะนี้ บมจ.ทีโอที ให้ความสนใจเข้าร่วมทุน ขณะที่กิจการรถไฟยังต้องดูข้อมูลเบื้องต้น เพราะก่อนหน้านี้กำหนดสร้างเป็นรถไฟความเร็วสูง
"หาก SPC ใดมีความพร้อมสามารถยื่นขอ Proposal ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้พร้อมครบทั้ง 7 SPC เพื่อขอรับสัมปทานจาก บริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด"นายประวีร์ กล่าว
อนึ่ง โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์มีพื้นที่ 204 ตร.กม. หรือ 124,500 ไร่ คิดเป็น 2.5 เท่าของพื้นที่อุตสาหกรรมในระยอง โครงการนี้จะเป็นประตูเศรษฐกิจและเป็นจุดแข็งในการเชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาค กลุ่มประเทศลุ่มแท่น้ำโขง(GMS) บนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้