อย่างไรก็ตาม รายได้ในไตรมาส 2/56 ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/56 ที่มีรายได้รวม 14,506 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากงานก่อสร้าง 8,092 ล้านบาท และรายได้จากการลงทุน 6,024 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 10.24% และรายได้จาการขายหุ้น บมจ.น้ำประปาไทย(TTW) ในสัดส่วน 11% ที่ราคาหุ้นละ 7.55 บาท
อนึ่ง ไตรมาส 1/56 บริษัทมีกำไรสุทธิ 5,070 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 16,371 ล้านบาท และสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ลดลงเหลือ 1.47 เท่า จาก 2.55 เท่า ณ สิ้นปี 55
ส่วนในไตรมาส 3/56 คาดว่าผลประกอบการจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/56 โดยคาดว่าจะมีรายได้จากงานก่อสร้าง 7 พันล้านบาท และมีกำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนในบมจ.ซีเค พาวเวอร์(CKP) ลงจาก 38% เหลือ 31.8% หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์
สำหรับเป้าหมายในปี 56 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวม 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากรายได้งานก่อสร้าง 3 หมื่นล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะรักษาระดับ 8-10% ไว้ได้ และจะมีกำไรจากการปรับปรุงรายการบัญชี หลังลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ซีเคพาวเวอร์(CKP) จาก 38% เหลือ 31.8% และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีงานใหม่เข้ามาประมาณ 26,000 ล้านบาท ส่งผลให้งานในมือ(backlog)ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาท
นายประเสริฐ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้ารายได้บริษัทจะเติบโต 10% ตามงานที่มีอยู่ในมือและงานใหม่ที่จะเข้ามา โดยเฉพาะงานภาครัฐจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันคาดว่าปีหน้าจะมีกำไรจากการดำเนินการลดลง เพราะไม่มีการขายเงินลงทุนออกมาเช่นเดียวกับปีนี้
ทั้งนี้ คาดว่าในสิ้นปี 56 CK จะมีงานในมือมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะสร้างรายได้มั่นคงให้กับบริษัทในช่วง 6 ปีนี้(ปี 57-62) ที่จะรับรู้รายได้จากงานในมือดังกล่าวปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าววา ปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของ CK ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทมา 40 ปี เนื่องจากบริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตและโดดเด่นอย่างมาก คาดว่ารายได้จากงานก่อสร้าง ณ สิ้นไตรมาส 2 มากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และรวมทั้งปีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
*พร้อมเข้าประมูลงานเพิ่มทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ
นายปลิว กล่าวว่า บริษัทมองโอกาสได้งานเพิ่มเติมจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะถือว่าเป็นงานสำคัญที่ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนเข้ามาก็จำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง โดย CK มีความเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลจะจ้างก่อสร้าง หรือ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ จ้างก่อสร้างแบบ Design and Build บริษัทก็มีความพร้อมเข้าประมูลงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีความถนัด ซึ่งเคยผ่านงานมาทั้งอุโมงค์ รถไฟฟ้า ท่าเรือ และสนามบิน
ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทหากต้องชะลอไป เพราะบริษัทยังมีงานในมือที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายศรีรัช มูลค่าโครงการ 2.25 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีความคืบหน้า 1.3% โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มูลค่าโครงการ 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งงานก้าวหน้าไป 18.5% เป็นต้น
ส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่กำหนดเปิดประมูลบางโครงการภายในปีนี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิด-สะพานใหม่ -คูคต มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลใน ก.ย.-ต.ค. , รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูล ต.ค.-พ.ย.
รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง(รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) มูลค่า 5.4 พันล้านบาท คาดเริ่มประมูล ต.ค.-พ.ย., รถไฟสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 7.5 พันล้านบาท คาดเริ่มประมูล ต.ค.-พ.ย. , รถไฟทางคู่ สายจิระ-ขอนแก่น มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูล พ.ย.-ธ.ค. และ รถไฟทางคู่ สายประจวบ-หัวหิน มูลค่า 1.99 หมื่นล้านบาท เริ่มประมูล พ.ย.-ธ.ค.
นอกจากนี้ ยังมีงานมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช มูลค่า 8.46 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูล ต.ค.-พ.ย. โครงการขยายถนน 4 เลน และเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 6 สาย มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูล ต.ค.-พ.ย. ส่วนรถไฟความเร็วสูงยังรอความชัดเจนจากรัฐบาล บริษัทยังมีงานในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการเขื่อนน้ำบาก ในสปป.ลาว มูลค่าโครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ซึ่งนายปลิว คาดว่าจะเซ็นสัญญางานก่อสร้าง (Conrtact Agreement) ในเดือน ส.ค.- ก.ย.นี้ และหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สัญญากู้เงิน และสัญญาสัมปทาน 25-30 ปี ทั้งนี้ บริษัทน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CKP จะเข้ามาบริหารและถือหุ้น 100%
และสปป.ลาว ก็มีแผนจะพัฒนาเขื่อนพลังงานน้ำตามลุ่มแม่น้ำโขงอีก 10 โครงการ ร่วม 1 หมื่นเมกะวัตต์ ที่บริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการรับงานเพิ่ม นอกจากนั้น บริษัทยังศึกษาโครงการเขื่อนพลังงานน้ำในลุ่มน้ำสาละวิน ประเทศเมียนมาร์ กว่า 2.1 หมื่นเมกะวัตต์
นอกจากนี้ CK ร่วมกับกลุ่มโตคิวเข้าประมูลพื้นที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ตามที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เปิดประมูลอยู่ โดย CK เข้าไปร่วมส่วนน้อย ด้วยการชักชวนของกลุ่มโตคิวที่เป็นพันธมิตรธุรกิจเก่าแก่ อย่างไรก็ตาม CK มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้ทางด่วน รถไฟฟ้า แต่ต้องดูความเหมาะสมและเวลา ซึ่งกำลังศึกษาอยู่
นายประเสริฐ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ในปี 57 จำนวน 2-3 พันล้านบาท อายุ 3 ,5,7 ปี เพื่อรองรับงานใหม่ที่จะขยายตัวมากขึ้นและทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน และในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในปีหน้าจะขอวงเงินออกหุ้นกู้เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาทจากครั้งก่อนที่ขอวงเงินไว้ 1.7 หมื่นล้านบาท และได้ใช้ไปแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนใช้รองรับงานในอนาคตนอกเหนือจากแหล่งเงินที่ได้มาจากผลการดำเนินงานของบริษัท
ปัจจุบันมีหนี้รวม 2 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้สถาบันการเงิน 4 พันล้านบาท และหุ้นกู้ 1.6 หมื่นล้านบาท ต้นทุนทางกาเรงินประมาณกว่า 5%
*ไม่มีแผนขายหุ้น บ.ในกลุ่ม
นายปลิว กล่าวว่า ภาพของบริษัทมีความชัดเจนว่าเป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำของประเทศ และเป็นผู้ลงทุนและพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ โดย CK ก่อตั้งขึ้นและร่วมลงทุนได้แก่ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) บมจ.น้ำประปาไทย (TTW) และ CKP ล้วนเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ มีความแข็งแกร่งทั้งด้านการลงทุนและการดำเนินงาน
ทั้งนี้ บริษัทไม่มีแผนขายหุ้นใน BECL . TTW, CKP และ BMCL ออกไปอีก ขณะเดียวกันมีโอกาสที่จะซื้อหุ้น BMCL เพิ่มเติมเนื่องจากเห็นแนวโน้มการเติบโตสูงเมื่อโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมโยงกันหลายสาย
บริษัทในกลุ่มนี้เป็นพันธมิตรสำคัญของ CK ที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคต่างๆที่จะทำให้ CK มีศักยภาพและทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่อ CK มากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา รูปแบบการลงทุนจะเป็นได้ทั้ง CK เป็นผู้ลงทุนเอง หรือร่วมกับพันธมิตรในกลุ่ม หรือบริษัทพันธมิตรในกลุ่มลงทุนเอง ซึ่งทุกรูปแบบจะสร้างรายได้จากงานก่อสร้างและกำไรจากการลงทุนให้ CK ได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่องในระยะยาว
"เราอยากนำเสนอกลยุทธ์ของ ช.การช่าง ว่าเราพร้อมรับโอกาสที่งานทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเราเปิด AEC ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นโอกาสของบริษัท ช.การช่าง เรามีความพร้อมบุคคลากร ความพร้อมด้านวิศวกรรม เราพร้อมเรื่องเงินทุน ...เราสามารถรับงานได้มากขึ้นเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท" นายปลิว กล่าว
ปัจจุบัน CK ถือหุ้นใน BECL สัดส่วน 15.15% TTW ถือ 19.04% BMCL ถือ 16.64% CKP ถือ 31.8% และ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ถือ 30%
นายปลิว กล่าวว่า จากการที่บริษัทได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน SET50 ทำให้หุ้น CK เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปและสถาบันทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก และเพื่อสร้างความมั่นใจและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ผู้ลงทุน บริษัทได้จัดโรดโชว์แก่นักลงทุนสถาบันในประเทศ ระหว่าง 25-31 ก.ค.นี้ และ ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. 56 จะไปโรดโชว์ให้แก่นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะได้รับความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดี