นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 3 วันในช่วงเดือน เม.ย.56 ที่ทำให้ต้องหยุดการผลิตทุกหน่วยและกว่าจะเดินเครื่องได้ครบทุกหน่วยต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน โดยบริษัทประเมินค่าเสียโอกาสรวมค่าใข้จ่ายในครั้งนี้ไว้ประมาณ 350 ล้านบาท
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าผลขาดทุนคงไม่มากนัก เพราะบริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงไว้แล้วบางส่วน
"แนวโน้มในไตรมาส 2 นี้มี stock loss และมี shut down ในเดือน เม.ย.ก็ยังไม่ค่อยน่าจะดีเท่าไรนัก...คิดว่าอาจมีโอกาสขาดทุน แต่เดือน มิ.ย.เราเป็นบวกค่อนข้างดี ราคาผลิตภัณฑ์ทุกตัวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาถึงเดือน ก.ค."นายอธิคม กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาส 3/56 น่าจะกลับมีมีกำไร เนื่องจากขณะนี้ราคาผลิตภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นทั้งปิโตรเลียมและเม็ดพลาสติก โดยเริ่มมีสัญญาณที่ดีมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
และในเดือน ก.ค.ส่วนต่างระหว่างน้ำมันดิบดูไบกับเบนซินมีมากกว่า 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนต่างระหว่างน้ำมันดิบดูไบกับดีเซลประมาณ 18 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ค่าการกลั่นรวม(GIM) ในเดือนก.ค.เพิ่มเป็น 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาส 2/56 ที่มี GIM เฉลี่ย 7.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
รวมทั้งภายในเดือน ก.ค.นี้จะมีการขยายกำลังการผลิตสไตลีน จาก 2 แสนตัน เพิ่มเป็น 2.6 แสนตัน และการขยายกำลังการผลิต ABS อีก 6 หมื่นตัน ดำเนินการผลิตเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
"ในไตรมาส 3 นี้น่าจะกลับมามีกำไร เพราะมาร์จิ้นดีขึ้น และมีวอลุ่มจาก ABS และสไตลีน โดยราคาสไตลีนก็ดีขึ้นด้วย"นายอธิคม กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในปี 56 ที่ระดับ 2.7-2.8 แสนล้านบาท แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกทำรายได้ต่ำกว่าเป้า แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้ชดเชยขึ้นมาได้ โดยบริษัทคาดว่าจะใช้กำลังการกลั่น 1.8 แสนบาร์เรล/วัน จากกำลังผลิตเต็มที่ 2.1 แสนบาร์เรล/วัน