สศค.เผยแนวโน้ม GDP ไตรมาส 2/56 โตต่ำกว่าคาดที่ 4% ทั้งปียังลุ้น 4-5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 29, 2013 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/56 น่าจะต่ำว่าที่คาดไว้ที่ 4% ดังนั้น หากจะให้ GDP ทั้งปีโตได้มากกว่า 4% ในช่วงไตรมาส 3-4/56 จะต้องมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.4% ขณะที่ สศค.คาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีจะเติบโตเฉลี่ย 4.5% หรือช่วงคาดการณ์ที่ 4.0-5.0%

ขณะที่ปัจจัยการเมืองยังไม่ได้นำมาประเมินในขณะนี้ แต่ส่วนใหญ่ปัญหาทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนและการบริโภคเป็นสำคัญ

"สถานการณ์ตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่างๆ รวดเร็วมาก ดังนั้น สศค.ยังไม่ทบทวนตัวเลข แต่จะรอตัวเลขสภาพัฒน์ที่จะออกมาเดือนหน้าก่อน จึงจะทบทวนอีกครั้ง"นายเอกนิติ กล่าว

สศค.ระบุว่า ศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลงทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน โดยเฉพาะเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.56 หดตัว 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาส 2/56 หดตัว 5.2% โดยเฉพาะในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ วิทยุ โทรทัศน์ และอาหารเป็นสำคัญ โดยดัชน ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวนี้ สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2556 ที่หดตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ที่หดตัว 2.2% โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวทั้งจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี โดยในเดือนมิ.ย.56 ขยายตัวที่ 25.0% ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 56 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 5.9 ล้านคน ขยายตัว 21.3% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าโดยมาจากนักท่องเที่ยว จีน มาเลเซีย และรัสเซีย เป็นหลัก

นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเบิก จ่ายได้ตามเป้า โดยในเดือนมิ.ย. 56 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวที่ 5.7% และอัตราการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ 69.3% เทียบกับเป้าหมายการเบิกจ่ายที่อยู่ 69.0%

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.และไตรมาส 2 มีสัญญาณชะลอตัวลง จาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และ ญี่ปุ่นชะลอตัว, การบริโภคในประเทศลดลงกลับสู่ภาวะปกติเนื่องจากมีฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้า, และการลงทุนเครื่องจักรที่กลับสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกัน

"แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังมีเสถียรภาพที่ดี ปัจจัยเงินเฟ้อลดลงมาจนไม่ใช่เป็นประเด็นกดดัน แม้เศรษฐกิจในเดือนมิ.ย. การส่งออกจะขาดดุล แต่เรายังมีทุนสำรองทีเพียงพอ เช่น จากปัญหาที่มีปัญหาเรื่องชะลอ QE ค่าเงินบาทก็ไม่ผันผวนมาก เพราะธปท. มีทุนจำนวนมากที่จะไปดูแล รวมถึงฟอร์เวิร์ดที่มีปริมาณมาก ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 44.2% ของจีดีพี" นายเอกนิติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้สศค.ได้มีการนำโครงการบริหารจัดการน้ำมาคำนวณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 3 หมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทยังไม่ได้นำมาคำนวณ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะผ่านสภาฯ หรือไม่

ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า สศค. ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปี 56 เศรษฐกิจไทยอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะทิศทางการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ของสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งแนวโน้มของการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งบทบาทนโยบายการคลังจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนในระยะต่อจากนี้ไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ