ส.ต้านโลกร้อน ขีดเส้น 1 เดือนรวมหลักฐานรอฟ้องเรียกค่าเสียหายน้ำมันรั่วหากรัฐเพิกเฉย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 30, 2013 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ถึงกรณีการเป็นตัวแทนประชาชนเรียกร้องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุน้ำมันดิบของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) รั่วในทะเลอ่าวไทยว่า ในระหว่างนี้จะต้องรอดูการแก้ปัญหาของคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน(กปน.) ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคมเป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดที่รับผิดชอบโดยตรงว่าสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือเรียกร้องค่าเสียหายจาก PTTGC ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้าน ตลอดจนธุรกิจการท่องเที่ยวในชุมชนได้มากน้อยเพียงใดก่อน
"ต้องดูว่าหลังจากเคลียร์ปัญหาขจัดคราบน้ำมันและทำความสะอาดแล้ว กรรมการชุดนี้ได้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เช่น ภาคท่องเที่ยว ประมง แล้วหรือไม่ หรือไปซูเอี๋ยกันกับเอกชนหรือไม่ ต้องดูอีกที ถ้าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการใดๆ หรือไม่เรียกร้องค่าเสียหายเพื่อมาชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ก็เป็นหน้าที่ของสมาคมฯ ที่จะไปฟ้องร้องทางกฎหมายต่อไป" นายศรีสุวรรณ กล่าว

ในระหว่างนี้ ทางสมาคมฯ และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ตลอดจนกลุ่มประมงพื้นบ้านและธุรกิจท่องเที่ยว จะขอใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมดว่าปัญหาน้ำมันดิบรั่วดังกล่าวได้สร้างผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อวิถีชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งการทำประมงพื้นบ้าน และธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการยื่นฟ้องต่อศาล หากคณะกรรมการ กปน.ไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียกร้องความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วดังกล่าว

"วันนี้ ผมและเครือข่ายต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด รวมทั้งข้อมูลในทางวิชาการว่าผลกระทบไปถึงไหน อย่างไร กุ้ง หอย ปู ปลา มีสารโลหะหนักปนอยู่หรือไม่ ปะการังได้รับผลกระทบหรือไม่ รวมทั้งอาชีพประมงพื้นบ้านต่างๆ ต้องเก็บข้อมูลทั้งหมดก่อน คงใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็น่าจะเพียงพอ" นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าว

พร้อมระบุว่า การฟ้องร้องในกรณีดังกล่าวสามารถยื่นฟ้องร้องได้ทั้งศาลปกครอง และศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องให้เอกชนจ่ายชดเชยความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น จะยื่นฟ้อง กปน.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย เนื่องจากไม่ดำเนินการฟ้องร้องค่าเสียหายต่อ PTTGC ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 9 อนุ 3 ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณามาตรการปกครอง พ.ศ.2542

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องหน่วยงานภาครัฐให้แสดงความรับผิดชอบโดยการเป็นตัวแทนประชาชนในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก PTTGC ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 96 และมาตรา 97 โดยเงินค่าเสียหายให้นำไปจัดตั้งกองทุนดูแลชดเชยอาชีพของชาวประมง และธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ