KTB คาดยอดขาย NPA ปี 56 ทำได้ตามเป้า 1 หมื่นลบ.คาด H2 ดีต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2013 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่มทรัพย์สินพร้อมขาย ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ธนาคารสามารถสร้างยอดขายทรัพย์ NPA ทั้งประเภทที่อยู่อาศัยและทรัพย์เพื่อการลงทุนได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังคงมั่นใจว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองน่าจะมีแนวโน้มที่ดี คาดว่าตลอดทั้งปี 56 จะสามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารจัดเตรียมแผนงานในการขายทรัพย์แปลงใหญ่เสนอขายให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นมีให้เลือกทั้งในทำเลกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่เป็นหัวเมืองของภูมิภาค เช่น จังหวัดสระบุรี ราชบุรี ระยอง พิษณุโลกมุกดาหาร บุรีรัมย์ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ฯลฯ โดยทรัพย์ดังกล่าวมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

"ในปีนี้ทรัพย์ NPA ของธนาคารส่วนใหญ่ได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาใหม่แล้วราคายังไม่สูงเกินไป โดยในส่วนของทรัพย์เพื่อการลงทุนนั้นทางธนาคารได้มีการจัดส่งรายละเอียดให้แก่นักลงทุนและผู้สนใจเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถขายได้ภายในไตรมาส 3 ส่วนทรัพย์ NPA ในกลุ่มที่อยู่อาศัยนั้นเชื่อว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากข้อได้เปรียบในเรื่องของราคาขายและทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีให้เลือกทั้งในเขตเมืองและปริมณฑล รวมทั้งจุดเด่นของทรัพย์ที่มีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ซื้อต้องปรับปรุงเพิ่มเติมก็สามารถเข้าอยู่ได้ จึงลดปัญหาด้านความเสี่ยงในการก่อสร้าง"นายสุชาติกล่าว

แม้สภาพเศรษฐกิจเริ่มมีผลกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ในส่วนของทรัพย์ NPA ของธนาคารยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และคาดว่าจะสามารถขายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากมั่นใจว่าทรัพย์ NPA ยังเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจซื้อ เช่น ความหลากหลายของทำเลที่ตั้งมีให้เลือกซื้อทั่วประเทศ รวมทั้งจุดเด่นด้านราคาขายที่ไม่แพงมากนัก และการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารฯลฯ

ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มีแนวโน้มการชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากหนี้ภาคครัวเรือนและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมียอดคงค้างเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แล้วในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มได้รับผลกระทบในเรื่องของอัตราการเติบโต และการเปิดโครงการใหม่เริ่มลดลงเพราะอัตราการขายเริ่มช้าเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังประสบปัญหาต้นทุนทั้งราคาวัสดุก่อสร้างและที่ดินมีราคาสูงทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทเริ่มขยับสูงขึ้น ตลอดจนปัญหาแรงงานที่ส่งผลทำให้การก่อสร้างล่าช้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ในภาพรวมของการเติบโตภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีความต้องการเฉพาะพื้นที่อยู่สูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ทำเลแนวรถไฟฟ้า ส่วนทำเลต่างจังหวัดนั้นบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนพิเศษตลาดยังคงมีแนวโน้มดี เนื่องจากการเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ