(เพิ่มเติม) KKP คงเป้าสินเชื่อปี 56 โต 19% เล็งตั้งสำรองฯราว 800-1 พันลบ.ในช่วง H2/56

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 1, 2013 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน(KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมในปีนี้ที่ 19% โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้สินเชื่อรวมเติบโตได้ 8% ส่วนใหญ่มาจากการขยายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงได้รับผลดีจากการกระจายตัวรายได้ทีดีขึ้น สัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที 67:33 ส่งผลให้กำไรของกลุ่มธุรกิจมีความสมดุล กำไรสุทธิใน 6 เดือนแรกอยูที่ 2,399 ล้านบาท

แนวทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง มองว่าสินเชื่อของธนาคารยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง รวมถึงมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจตลาดทุนอย่างเต็มรูปแบบ จะเห็นได้ว่าภาพรวม 6 เดือนแรกที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจมีผลดำเนินงานที่สะท้อนความร่วมมือทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนชัดเจน ทำให้มีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจจะต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมอีก หลังจากครึ่งปีแรกตั้งไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูง แต่ในครึ่งปีหลังจะกลับมาตั้งสำรองในอัตราที่ปกติที่ไตรมาสละ 400-500 ล้านบาท เพื่อรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลก ขณะเดียวกันเพื่อรองรับผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่ส่งผลกระทบให้รถมือสองมีราคาที่ปรับตัวลดลงประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ส่งผลให้เป้าหมาย NPL ปีนี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นที่สิ้นปีจะอยู่ที่ไม่แกิน 3.5% ซึ่งเป็นระดับที่อยู่ปัจจุบัน จากที่ก่อนหน้านี้กำหนดไว้ 3%

นายอภินันท์ กล่าวว่า ธนาคารได้รีแบรนด์ใหม่ ภายใต้แนวคิด “Optimisation" ที่สะท้อนถึงตัวตนของเกียรตินาคินภัทร ที่มีจุดยืนในการทำธุรกิจที่ชัดเจน โดยสิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเร็วๆ นี้ ภายใต้ธุรกิจตลาดทุน คือ 1. บล. เกียรตินาคิน ที่มีจุดเด่นในด้านการให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลูกค้ารายย่อย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บล.เคเคเทรด 2. บลจ. เกียรตินาคิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของธุรกิจตลาดทุนต่อไปในอนาคต เปลี่ยนชื่อเป็น บลจ. ภัทร โดยในรายละเอียดของแต่ละส่วนงานจะมีการนำเสนอข้อมูลอีกครั้ง

ในส่วนของการดำเนินงานทางด้านรีแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจนั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าเกียรตินาคินและภัทรต่างเป็นที่ยอมรับของฐานลูกค้าตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในบางจุดเพื่อให้เข้ากับกลยุทธ์ใหม่ภายใต้กลุ่มธุรกิจ และทิศทางของธุรกิจโดยรวม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก เพราะธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุนมีจุดยืนในการทำธุรกิจที่ชัดเจนอยู่แล้ว โดยใช้แนวคิดหลักที่ว่า “Optimisation" คือการมุ่งแสวงหาทางเลือกทางการเงินและการลงทุนที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์สูงสูดสำหรับลูกค้าแต่ละราย ตามนโยบายที่จะเป็นสถาบันการเงินที่ชำนาญการเฉพาะด้านที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและให้บริการที่มีคุณภาพสูง โดยพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ลูกค้าประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนในการทำธุรกิจและการลงทุน

ทั้งนี้ ชื่อกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรใช้ในการสื่อสารที่เป็นภาพรวมและความร่วมมือระหว่างธุรกิจต่างๆ ภายในกลุ่ม ในขณะที่ธุรกิจหลักคือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (ธนาคารเกียรตินาคิน) และธุรกิจตลาดทุน (ภายใต้ บมจ.ทุนภัทร) ยังคงใช้แบรนด์เดิมในการสื่อสารกับลูกค้าของตนต่อไป ซึ่งจะมีการเปิดตัวแคมเปญต่างๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจให้ทุกท่านได้เห็นต่อจากนี้

นายกฤติยา วีรบุรุษ ประธานธุรกิจตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทุนภัทร และบล.ภัทร เปิดเผยว่า ภาวะธุรกิจตลาดทุนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวน จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เห็นได้จาก SET index ที่ปรับตัวลดลงจาก 1,561.06 จุด ณ สิ้นไตรมาส 1/2556 มาปิดที่ 1,451.90 จุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล.ภัทร และ บล.เกียรตินาคิน อยู่ที่ 4.33% และ 1.30% ตามลำดับ หรือรวมเท่ากับ 5.63% เป็นอันดับที่ 3 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 31 แห่ง

และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ บล.ภัทร ได้บันทึกรายได้ธุรกิจวานิชธนกิจราว 372 ล้านบาท เข้ามาในไตรมาส 2 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการเสนอขายหน่วยลงทุนของ BTSGIF ยังรวมถึงธุรกิจจัดการกองทุนที่มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (โดย บลจ.เกียรตินาคิน) จำนวน 22,188 ล้านบาท และสินทรัพย์ภายใต้การดูแลของงานด้านกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund อีกจำนวน 5,006 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้รายได้จากธุรกิจตลาดทุนมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของรายได้รวมของกลุ่มธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ