สำหรับภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น มองว่าเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโต เพราะไม่ต้องการเน้นการเติบโตมาก แต่ต้องการหันมาเน้นการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจยุโรปสัญญาณยังไม่แน่นอน ซึ่งตลาดก็ไม่ได้หวังว่าจะเติบโต ขณะที่สหรัฐระยะใกล้ในหนึ่งไตรมาสนี้คงชะลอตัวเพราะตัดงบประมาณ แต่ระยะยาวมีโอกาสฟื้นตัวได้ ด้านญี่ปุ่นมีความหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แต่การเติบโตคงยังไม่เร่งตัวชัดเจน ดังนั้น เมื่อทิศทางปัจจัยต่างประเทศยังไม่ชัดเจนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยก็ยังมีอยู่
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ในแง่ Fund Flow นั้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ออกมาระบุชัดเจนแล้วว่าการจะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE)ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หากเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้นก็จะถอนมาตรการออกไปเร็ว แต่หากเร่งตัวช้าหรือแย่ลงก็จะยืดการถอนมาตรการออกไปก่อน
การที่เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นก็ควรจะเป็นผลบวกต่อการลงทุนในตลาดทุน แต่เนื่องจากเกี่ยวโยงกับการดึงกระแสเงิน QE ออกไป ทำให้มีเงินไหลออกทั้งตลาดทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้น ส่งผลตลาดหุ้นสหรัฐช่วงสั้นเป็นตลาดที่เงินไหลกลับเข้าไป ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนมาก เพราะนักลงทุนต่างถือเงินสดเพื่อรอดูทิศทางตลาดให้ชัดเจนมากกว่านี้ก่อน
ดังนั้น กลยุทธ์ช่วงนี้ให้ทบทวนปรับพอร์ตให้เหมาะสม มองที่การลงทุนระยะยาว หรือหันไปลงทุนในตราสารหนี้เข้ามาเสริม
ส่วนปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ คงจะมีผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดในเดือน ส.ค.นี้ แต่ในอดีตเป็นแค่ผลกระทบในเชิง sentiment ภายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้สนใจหรือกังวลมากนัก โดยเชื่อว่า Fund Flow จะกลับมาเข้ามาลงทุน หากตลาดหุ้นขนาดใหญ่อย่างสหรัฐปรับขึ้นไปสูงแล้ว ก็จะทำให้เงินก็จะไหลกลับเข้ามาหาผลตอบแทนในประเทศที่ valuation ต่ำลง
นายธนวัฒน์ คาดว่าหากตลาดหุ้นไทยปรับฐานอีกรอบจนค่า P/E ราว 10-13 เท่า หรือต่ำกว่า 9 เท่า ซึ่งถือว่าถูกมาก ก็อาจจะจูงใจให้ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน แต่หากเทียบ P/E ตลาดหุ้นไทยกับต่างประเทศตอนนี้ไม่ได้เพราะธรรมชาติการซื้อขายต่างกัน และต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นก็มั่นใจว่าเงินจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในเอเชีย รวมถึงไทย เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่ย้ายฐานลงทุนการผลิตมาไทยต้องมองแล้วว่ากำลังซื้อดีขึ้นเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงอย่างไรความน่าสนใจตลาดหุ้นไทยก็ยังมีอยู่