"ขั้นตอนสุดท้ายเราจะทำความสะอาดหินทุกก้อน ทรายทุกเม็ด คิดว่าขอเวลา 2-3 วัน จะทำให้สวยเหมือนเดิม" นายไพรินทร์ กล่าว
นายไพรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ทางกรมเจ้าท่าแจ้งว่าตรวจสอบไม่พบฝ้าน้ำมันตามพื้นที่ที่น้ำมันรั่วไหล และสภาพของปะการัง ปลา หอย ก็ยังมีสภาพเหมือนเดิม ทั้งนี้ วันนี้เป็นเป็นวันที่ 6 แล้วหลังเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมาเกตุการณ์ที่เกิดขึ้นยอมรับว่าประเมินยาก และคงไม่ปฏิเสธว่ากระทบถึงการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
นายไพรินทร์ ชี้แจงว่า จากภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA แสดงคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเย็นวันที่ 27 ก.ค. 56 และในวันที่ 29 ก.ค. 56 เมื่อเวลา 18.23 น.แสดงภาพคราบน้ำมันที่ผิวหน้าทะเล มีขนาดพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 1.6 กิโลเมตร โดยคราบน้ำมันที่พบเป็นบริเวณกว้างอยูตอนเหนือของเกาะเสม็ด และเข้าไปอ่าวพร้าว ซึ่งคาดว่าเข้าไปไม่เกิน 20 ลบ.ม.และในวันที่ 30 ก.ค.56 เวลา 6.15น.แสดงคราบน้ำมันที่เป็นแผ่นฟิล์มบางๆด้านเหนือเกาะเสม็ดและอ่าวบ้านเพมีขนาดลดลง ในวันที่ 31 ก.ค.56 ภาพแสดงให้เห็นคราบน้ำมันเป็นฟิล์มบางๆมีขนาดเล็กลงเล็กน้อย
การดูจากภาพถ่ายดาวเทียมที่เห็นคราบน้ำมันเป็นวงกว้างเพราะน้ำมันกระจายไปตามพื้นน้ำ ทำให้เข้าใจผิดว่ามีคราบน้ำมันจำนวนมาก แต่ความจริงเป็นแค่เป็นฟิล์มบางๆ โดยบริษัทได้เรียกบริษัทจากสิงคโปร์เข้ามาจัดการตั้งแต่วันเกิดเหตุและเริ่มดำเนินการในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยการใช้สารเคมีพ่นลงบนคราบน้ำมันในทะเลเป็นสารจำพวก oil dispersants ที่เป็นส่วนผสมระหว่างสารซักฟอกกับตัวทำละลายที่จะทำให้คราบน้ำมันแตกตัวเป็นหยดน้ำมันเล็กๆ เพื่อให้จุลชีพ คือแบคทีเรีนและแพลงตอนในทะเลย่อยสลายได้ และสารเคมีที่ใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท.จะว่าจ้างนักวิชาการจาก ม.เกษตรศาสตร์และผู้เขี่ยวชาญต่างประเทศ ในการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่วนขยะที่เกิดจากการกำจัดคราบน้ำมันจะขนย้ายทางทะเลพรุ่งนี้ โดยกองทัพเรือและกองทัพบก
ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ในตอนต้นเหตุการณ์ เมื่อเห็นจากภาพถ่ายดาวเทียม คาดว่าน้ำมั่นรั่วไหลออกมามาก แต่เมื่อลงพื้นที่พบว่าคราบน้ำมันที่เห็นเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ เท่านั้น