สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.9 ปี) LB21DA (อายุ 8.4 ปี) และ LB196A (อายุ 5.9 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 21,938 ล้านบาท 6,174 ล้านบาท และ 5,297 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13829C (อายุ 28 วัน) CB13820A (อายุ 14 วัน) และ CB14703A (อายุ 0.9 ปี) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 35,854 ล้านบาท 27,800 ล้านบาท และ 25,758 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) รุ่น A157A (BBB-) มูลค่าการซื้อขาย 432 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT146A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 361 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT138A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 324 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วง -1 ถึง -2 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ในตราสารหนี้อายุน้อยกว่า 3 ปี ขณะที่ Yield ของตราสารหนี้อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงประมาณ +9 ถึง +15 Basis Point ตามทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่น Benchmark อายุ 15 ปี ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย โดยจำหน่ายได้เพียง 3,020 ล้านบาท จากวงเงินประมูลทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้ yield ในช่วงอายุดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น และดึงให้ Yield ของพันธบัตรรุ่นใกล้เคียงสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้อยู่เช่นเดิม โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีทีท่าว่าจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ผ่านโครงการซื้อพันธบัตรด้วยวงเงินเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมกับคงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ในกรอบ 0 - 0.25% ต่อไป โดยท่าทีที่เป็นบวกนี้ มีผลช่วยให้บรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามการประชุมของ FOMC ครั้งต่อไปในช่วงเดือนกันยายน (17 - 18 ก.ย.) ที่จะมีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 1,662 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือมากกว่า 1 ปี) 4,700 ล้านบาท แต่กลับซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 6,362 ล้านบาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย มียอด ซื้อสุทธิ 514 ล้านบาท