ทริส ลดอันดับเครดิตองค์กร ROJNA เป็น"BBB+" จาก "A-" แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 6, 2013 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) เป็น “BBB+" จาก “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงระยะเวลาในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทหลังอุทกภัยปี 2554 ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่คาดหมายไว้เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าฟื้นตัวต่ำกว่าคาดและอนาคตของสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา ที่ยังไม่แน่นอน อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของผู้บริหารบริษัทในการจัดการธุรกิจช่วงวิกฤติ ตลอดจนรายได้ที่สม่ำเสมอจากการขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค การกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์หลังจากที่บริษัทซื้อนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้ร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหวังว่าธุรกิจไฟฟ้าและการขายสาธารณูปโภคจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัท ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จะช่วยกระตุ้นความต้องการที่ดินในสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของบริษัทซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา

ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจไฟฟ้า

ROJNA เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลวินิชบุตรและกลุ่มซูมิโตโม (Sumitomo Group) นอกเหนือจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งไฟฟ้าและสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยและจีนด้วย ในช่วงระหว่างปี 2550-2554 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการขายคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60% ของ EBITDA รวม ที่เหลืออีก 40% มาจากธุรกิจขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ซึ่งขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา

บริษัทประสบปัญหาอุทกภัยในระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 สินทรัพย์ในการดำเนินงานซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดอยุธยาต้องหยุดดำเนินงานในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 และปิดซ่อมแซมในปี 2555 หลังอุทกภัย มีบริษัทประมาณ 20 แห่งจากกว่า 200 แห่งในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาหยุดดำเนินกิจการและย้ายโรงงานไปที่อื่น โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก หลังจากเหตุการณ์อุทกภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนภายในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา บริษัทได้สร้างคันกั้นน้ำความยาว 77 กิโลเมตรล้อมรอบสวนอุตสาหรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันน้ำท่วม

แม้ว่าโรงงานที่ปิดกิจการและย้ายออกจากสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาจะมีจำนวนไม่มาก และได้มีการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแล้วก็ตาม แต่ยอดขายที่ดินในสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยายังคงชะลอตัว โดยบริษัทขายที่ดินได้เพียง 65 ไร่ในปี 2555 เทียบกับระดับปกติที่ขายได้ 400-650 ไร่ต่อปีในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย ดังนั้น เพื่อลดการพึ่งพิงสวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา บริษัทจึงได้ซื้อกิจการนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งคือสวนอุตสาหกรรมปลวกแดงในจังหวัดระยองและ พรอสเพอร์ริตี้ อินดัสเตรียล เอสเตท ในจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 1,435 ล้านบาท หลังจากการซื้อกิจการดังกล่าว นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทก็มีการกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ดีขึ้น

ปัจจุบัน บริษัทเป็นเจ้าของและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรวม 4 แห่งในจังหวัดอยุธยา ระยอง และปราจีนบุรี ในปี 2555 บริษัทขายที่ดินได้รวม 2,762 ไร่ โดย 2,698 ไร่เป็นที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดระยองและปราจีนบุรี และ 65 ไร่ในจังหวัดอยุธยา ยอดขายที่ดินที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็นผลมาจากการขายที่ดินแปลงใหญ่ให้ผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งและผู้ผลิตไฟฟ้ารายหนึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 บริษัทมีที่ดินคงเหลือในนิคมอุตสาหกรรมสำหรับขายทั้งหมด 5,777 ไร่ โดยประมาณ 50% อยู่ในจังหวัดอยุธยา และอีก 25% อยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากเป็นเจ้าของสวนอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทยังถือหุ้น 41% ใน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยาด้วย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 บริษัทโรจนะ พาวเวอร์ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 432 เมกะวัตต์ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานอยู่จำนวน 267 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตส่วนขยาย 55 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) อีก 110 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนาด 267 เมกะวัตต์ของบริษัทประสบอุทกภัยจนต้องปิดการดำเนินงานและได้ประกาศเหตุสุดวิสัยกับคู่สัญญาในปี 2555 การซ่อมแซมและเปลี่ยนอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปี 2555 และโรงไฟฟ้าเริ่มทยอยกลับมาผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2556

บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ ขายไฟฟ้ารวม 220 ล้านหน่วย (Gigawatt hours -- GWh) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โดยขายให้แก่ กฟผ. จำนวน 77 ล้านหน่วย และขายให้แก่ลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมจำนวน 147 ล้านหน่วย โดยปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็น 50%-60% ของปริมาณที่ขายในช่วงก่อนเกิดอุทกภัย ซึ่งปกติบริษัทขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมได้ประมาณ 250-280 ล้านหน่วยต่อไตรมาส

ในปี 2555 เกือบทุกหน่วยธุรกิจของบริษัทต้องหยุดดำเนินงานหลังเหตุอุทกภัยยกเว้นการขายคอนโดมิเนียมในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม บริษัทบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้ดี โดยนอกเหนือจากการได้รับเงินค่างวดจากการขายที่ดินแล้ว บริษัทได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมจากบริษัทประกันภัยจำนวนประมาณ 1,300 ล้านบาท ในปี 2555 บริษัทยังสามารถขายกิจการโรงแรมในประเทศจีนมูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินสดจากการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิของบริษัทรวมเงินเพิ่มทุนของบริษัทโรจนะ พาวเวอร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาทในปี 2555 ด้วย

รายได้รวมยังคงอยู่ระดับที่ดีที่ 6,171 ล้านบาทในปี 2555 และ 1,726 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 รายได้ที่ยังคงสูงเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการขายที่ดินในช่วงก่อนอุทกภัยและจากการขายคอนโดมิเนียมในประเทศจีนตามนโยบายการรับรู้รายได้เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ แม้ว่ารายได้จะยังคงอยู่ในระดับที่ดี แต่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงอย่างมากเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและภาระดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง กำไรก่อนภาษีของบริษัทลดลงเป็น 129 ล้านบาทในปี 2555 และมีผลขาดทุน 186 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556

อย่างไรก็ตาม บริษัทรายงานผลการดำเนินงานเป็นกำไรสุทธิจำนวน 1,194 ล้านบาทในปี 2555 และ 350 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เนื่องจากบริษัทบันทึกเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัยจำนวน 1,214 ล้านบาทในปี 2555 และ 941 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากการลงทุนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาและผลการดำเนินงานที่ลดลงระหว่างการหยุดดำเนินงาน เงินกู้กับสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจาก 12,244 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 19,423 ล้านบาทในปี 2555 และ 19,883 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 65.6% ณ เดือนมีนาคม 2556 จากระดับ 60% ในระหว่างปี 2552-2553 คาดว่าในอนาคตฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นโดยลำดับ

ภายในปี 2556 ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP จะเพิ่มขึ้นเป็น 180 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ 90 เมกะวัตต์ บริษัทยังมีแผนจะขายไฟฟ้าจากโครงการขยายกำลังการผลิตของบริษัทให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญาไม่รับประกันการซื้อไฟฟ้า (Non-firm) จำนวน 50 เมกะวัตต์ด้วย ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ประสบอุทกภัยทางภาคตะวันออกของประเทศ พิจารณาจากมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 632 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ยังได้ประกาศแผนการขยายกำลังการผลิตในสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของบริษัทในจังหวัดปราจีนบุรีด้วย ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้าไปขยายการผลิตในสวนอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทไม่ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในระหว่างปี 2556-2557 บริษัทวางแผนลงทุนจำนวน 2,000-3,000 ล้านบาทสำหรับซื้อที่ดินและเป็นค่าพัฒนาที่ดินในสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่และจะลงทุนจำนวน 2,600 ล้านบาทสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 24 เมกะวัตต์ ดังนั้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะคงอยู่ในระดับสูงและจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ