นอกจากนี้ยังมี upside จากงานวาณิชธนกิจที่มีเข้ามามากในปีนี้ ทั้งงานที่ปรึกษาทางการเงิน(FA) และงาน M&A อย่างเช่น ดีล CPALL-MAKRO งานนี้คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาในไตรมาส 3/56 เกือบ 2,000 ล้านบาท อีกทั้ง SCB ยังเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับดีลนี้ด้วย
แม้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของ SCB จะดูอ่อนกว่าครึ่งปีแรก(H1/56)ภายหลังจากที่เห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้สินเชื่อ retail ส่งสัญญาณที่ไม่ดี แต่ทาง SCB ได้หันไปที่สินเชื่อประเภท Corporate แทนในช่วงครึ่งปีหลังนี้แล้ว อีกทั้ง ปัจจุบันราคาหุ้นลงมาจนจูงใจในการซื้อ เพราะมี upside มากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่โบรกฯต่างให้ไว้
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) บล.บัวหลวง ซื้อ 219 บล.เอเชีย พลัส ซื้อ 215 บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 213 บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) ซื้อ 211 บล.ทรีนีตี้ ซื้อ 211 บล.กรุงศรี ซื้อ 206 บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ซื้อ 202 บล.ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 200
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า ธุรกิจของ SCB ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 56 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 19.4% มาอยู่ที่ 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 40,220 ล้านบาท โดยรับมาจากธุรกิจแบงก์โดยทั่วไปที่ยังเติบโตได้ดี แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง(H2/56)อาจจะมีการเติบโตชะลอลงไปบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
ทั้งนี้ คาดว่าสินเชื่อของ SCB ในปีนี้(2556)จะเติบโต 14% และปีหน้า(2557)คาดว่าจะสินเชื่อจะเติบโต 12% ส่วนหนี้เสียก็ไม่น่ากังวล
นอกจากนี้ SCB ยังมี upside จากงานวาณิชธนกิจที่มีเข้ามามาก ทั้งงานที่ปรึกษาทางการเงิน(FA) และงาน M&A อย่างเช่น ดีล CPALL กับ MAKRO ที่รับไปเต็ม ๆ
สำหรับปีหน้า SCB คงจะมีการเติบโตของกำไรในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากปีหน้าจะไม่มีการลดภาษีนิติบุคคลเข้ามาช่วย เพราะปีหน้าคงคิดในอัตราเดียวกับปีนี้ที่ 20%
นายธนเดช กล่าวต่อว่า SCB เป็นหุ้นในกลุ่มแบงก์ตัวหนึ่งที่อิงกับเศรษฐกิจ และปัจจัยในประเทศ ปัจจุบันราคาหุ้นลงมาจนจูงใจในการซื้อ เพราะมี upside มากเมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายที่ให้ไว้ที่ 206 บาท/หุ้น
ด้านนายอดิศร มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)ให้เหตุผลว่า สินเชื่อของ SCB ยังมีการเติบโตที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ โดย SCB ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุก และที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย หรือบางทีเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอด
ในปีนี้คาดว่าสินเชื่อของ SCB จะเติบโต 12% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยก็มีการเติบโตที่โดดเด่น ทั้งจากค่าธรรมเนียม และงานด้านวาณิชธนกิจ
นอกจากนี้ ราคาหุ้นปัจจุบันก็มี upside จากราคาเป้าหมายมาก ทำให้น่าสนใจเข้าไปลงทุน พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ไว้ที่ 46,000 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 40,220 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี SCB ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสินเชื่อรายย่อย อย่างสินเชื่อบ้าน และรถ เป็นต้น ที่อาจจะมีการชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง(H2/56) และ SCB ก็เป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ให้กับ SSI แต่ตามข่าวที่ออกมาก็เห็นว่ามีการตั้งสำรองส่วนนี้ไว้แล้ว
ส่วนนายสุวัฒน์ บำรุงชาติอุดม ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า ได้แนะนำ"ซื้อ"หุ้น SCB ด้วยราคาเป้าหมาย 219 บาท/หุ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง(H2/56)จะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก(H1/56)ภายหลังจากที่เห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้สินเชื่อ retail ส่งสัญญาณที่ไม่ดี ดังนั้นทางแบงก์จึงได้หันไปที่สินเชื่อประเภท Corporate แทน
อย่างไรก็ดี ผู้บริหาร SCB ได้ประมาณการว่าสินเชื่อปีนี้จะเติบโต 12-17% แต่ทางเราคาดว่าสินเชื่อของ SCB ปีนี้น่าจะเติบโต 15% นอกจากนี้ ยังมองว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/56 น่าจะยังดีอยู่ เนื่องจากจะมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาฯในการทำดีล CPALL-MAKRO คาดว่าจะเข้ามาเกือบ 2,000 ล้านบาท อีกทั้ง SCB ยังเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับดีลนี้ด้วย ดังนั้น SCB ก็น่าจะมีรายได้ทั้งจากการปล่อยสินเชื่อ และรายได้จากค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษาของดีลนี้
พร้อมมองผลกำไรปี 56 ยังมีการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรสุทธิ 50,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 40,220 ล้านบาท
"ปกติราคาหุ้น SCB จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับหุ้น KBANK แต่ตอนนี้ราคาหุ้น SCB อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า KBANK ค่อนข้างมาก ก็เป็นโอกาสที่จะซื้อลงทุนได้"นายสุวัฒน์ กล่าว