อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมีแหล่งกระแสเงินสดที่กระจายตัว รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเซ็นทรัล อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวลดทอนลงไปบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและได้รับผลกระทบได้ง่ายจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีอัตรากำไรต่ำ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทจัดว่ามีการแข่งขันที่รุนแรงเมื่อพิจารณาจากอุปสงค์ของจำนวนห้องพักในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการทำการตลาดเชิงรุกเป็นประจำในธุรกิจอาหารบริการด่วน
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในแบรนด์สินค้าหลักทั้งในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วนได้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพียงพอต่อความต้องการในการลงทุน
CENTEL ก่อตั้งโดยตระกูลจิราธิวัฒน์ในปี 2523 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรม 1 แห่งในประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 บริษัทบริหารโรงแรมจำนวน 31 แห่งภายในประเทศและ 7 แห่งในต่างประเทศ ด้วยจำนวนห้องพัก 7,340 ห้อง บริษัทมีโรงแรมของตนเองทั้งสิ้น 15 แห่ง โดย 1 แห่งเป็นเจ้าของในลักษณะของการร่วมทุน และ 1 แห่งอยู่ภายใต้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของคิดเป็นสัดส่วน 52% ของจำนวนห้องทั้งหมด โดยบริษัทบริหารงานโรงแรมภายใต้แบรนด์ “เซ็นทารา" และ “เซ็นทรา"
บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารบริการด่วนภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) โดยปัจจุบัน CRG ให้บริการอาหารบริการด่วนจำนวน 12 แบรนด์ ซึ่งประกอบด้วยร้านอาหารภายใต้แฟรนไชส์จากต่างประเทศหลากหลายแบรนด์ และแบรนด์ของบริษัทเองคือ “ริว ชาบู ชาบู"และ“เดอะ เทอเรส"ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 บริษัทมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวมทั้งหมด 681 แห่งทั่วประเทศ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารคิดเป็นสัดส่วน 54%-58% ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจโรงแรม โดยปกติบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากโรงแรมคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายกเว้นในบางปีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้
ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมีอิทธิพลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเผชิญความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 19.8% ในปี 2554 และ 16.8% ในปี 2555 และเพิ่มขึ้น 19.0% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 63.9% ในปี 2554 เป็น 69.9% ในปี 2555 และอยู่ที่ระดับ 84.3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ทั้งนี้ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อัตราการเข้าพักโรงแรมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 58.0% ในปี 2554 เป็น 60.9% ในปี 2555 และอยู่ที่ระดับ 70.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556
ส่วนอัตรารายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ของบริษัท (Revenue Per Available Room -- RevPAR) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2,339 บาทต่อวันในปี 2554 เป็น 2,617 บาทต่อวันในปี 2555 และ 4,311 บาทต่อวันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวบางส่วนเกิดจากราคาที่สูงขึ้นของห้องพักของโรงแรมใหม่ของบริษัทที่เปิดให้บริการ
ในปี 2555 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 29% สู่ระดับ 14,504 ล้านบาทเนื่องจากรายได้จากธุรกิจอาหารและโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2555 รายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น 28% จากการรวมผลประกอบการของร้านอาหารญี่ปุ่น “โอโตยะ" ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น 32% จากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการรับรู้ผลประกอบการของโรงแรมใหม่หลายแห่งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ
รายได้รวมของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน สู่ระดับ 4,420 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับ 18.6% ในปี 2554 เป็น 19.6% ในปี 2555 และอยู่ที่ระดับ 26.9% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 เนื่องจากการปรับปรุงอัตรากำไรในธุรกิจโรงแรมและเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจาก 1,548 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 2,344 ล้านบาทในปี 2555 และอยู่ที่ระดับ 1,087 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 14.4% ในปี 2554 เป็น 17.6% ในปี 2555 และอยู่ที่ระดับ 7.8% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.9 เท่าในปี 2554 เป็น 5.5 เท่าในปี 2555 และอยู่ที่ระดับ 8.3 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 โดย ณ เดือนมีนาคม 2556 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ประมาณ 2,000 ล้านบาท
โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการขยายตัวในธุรกิจโรงแรม โดยบริษัทใช้เงินทุนมากกว่า 14,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนและก่อสร้างโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เช่น กรุงเทพฯ กระบี่ พัทยา ภูเก็ต และเกาะมัลดีฟ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 65% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 แต่ลดลงสู่ระดับ 57.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นบางส่วนจากการตีค่ามูลค่าสินทรัพย์ ในระยะปานกลางคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะลดลงเนื่องจากเงินทุนจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มเพื่อให้บรรลุกลยุทธ์ในการเติบโต
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการแผนการลงทุนอย่างรอบคอบและสามารถรักษาโครงสร้างเงินทุนให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ