TUF มั่นใจปีนี้ยอดขายสกุลดอลลาร์โต 10%แม้ H1/56 โต 5% เชื่อ H2/56 ฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 13, 2013 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ผู้นำกล่าวว่า บริษัทยังมั่นใจว่า ปีนี้ยอดขายจะยังเติบโตที่ 10% และคาดว่ายอดขายปีนี้จะใกล้เคียงที่ระดับ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมียอดขายในรูปเงินเหรีญสหรัฐเท่ากับ 1,759 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มียอดขาย 1,674 ล้านเหรียญสหรัฐ และมียอดขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 52,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน ที่มียอดขาย 52,062 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิรวม 6 เดือนแรกเท่ากับ 1,033 ล้านบาท
"การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก มีความท้าทายสูงมาก แต่เรายังเชื่อมั่นว่า แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มดีขึ้น จากการปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาในส่วนของธุรกิจหลักให้เข้มแข็งและมีศักยภาพมากที่สุด เน้นความสามารถการทำกำไรอย่างใกล้ชิด โดยหันมาใช้ทรัพยากรด้านการผลิตต่างๆ ของบริษัทฯ ที่เราเข้าไปลงทุน เช่น บริษัท แพ็คฟู้ด ที่มีอยู่มาพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับจุดแข็งของเราที่เป็นผู้ผลิตอาหารทะเลได้อย่างครบวงจร และสามารถกระจายหาแหล่งวัตถุดิบได้ต่อเนื่อง ทำให้เรามีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ดี"นายธีรพงศ์ กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 2/56 บริษัทมียอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 935 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้เท่ากับ 852 ล้านเหรียญสหรัฐ และมียอดขายในรูปเงินบาทเท่ากับ 28,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/55 ที่มีรายได้เท่ากับ 26,764 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 นี้เท่ากับ 359 ล้านบาท ลดลงจากปี 55 ที่ทำกำไรสุทธิเท่ากับ 1,001 ล้านบาท หรือลดลง 64% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.31 บาท

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องในไตรมาสสองนี้ ราคาวัตถุดิบปลาทูน่ายังมีความผันผวน จากราคาเฉลี่ยในไตรมาสแรก 2,198 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 2 เท่ากับ 2,178 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถึงแม้ว่าราคาเฉลี่ยในไตรมาส 2 จะลดลงเล็กน้อย แต่ช่วงระหว่างไตรมาสราคามีความผันผวนมาก และจากราคาที่ผันผวนนี้ ยังทำให้ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อ เพราะยังไม่มั่นใจเรื่องราคา

ส่วนปัจจัยจากวัตถุดิบกุ้งในไตรมาสนี้ ยังคงสูงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก อันเป็นผลจากโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) กุ้งมีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี โดยราคากุ้งในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 20% (ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม) เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก หรือเพิ่มขึ้นถึง 72% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2555 จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจการแปรรูปกุ้งเพื่อการส่งออก เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนมีความท้าทายมากขึ้น จึงส่งผลต่อกำไรสุทธิในไตรมาส 2

อีกทั้งในไตรมาสนี้ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน อันเกิดจากความผัวผวนอย่างมากของค่าเงินบาท ทั้งนี้ในกรณีที่ค่าเงินมีทิศทางที่เสถียรภาพ ที่ผ่านมาบริษัทสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ไตรมาส 2 ยังมีค่าใช้จ่ายทางภาษีที่เพิ่มขึ้น และไม่มีเงินประกันจากเหตุเพลิงไหม้มาชดเชย จึงทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ ลดลงจากไตรมาส 1

และถึงแม้ว่าต้องเผชิญปัจจัยท้าทายต่างที่เกิดขึ้น แต่บริษัทฯ สามารถทำอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) เท่ากับ 12.4% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบยอดขายไตรมาส 2 และไตรมาส 1 พบว่า ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% และในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 15% ซึ่งโดยภาพรวมบริษัทฯ ยังมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) ดีขึ้น เนื่องจากการปรับราคาขายสินค้า และธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายกุ้งแช่แข็งในสหรัฐอเมริกาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก

สำหรับสัดส่วนรายได้ของบริษัทช่วงครึ่งปีแรกโดยแบ่งตามผลิตภัณฑ์หลัก 6 กลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจปลาทูน่า มีสัดส่วน 50% กลุ่มธุรกิจกุ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกุ้ง 22% กลุ่มธุรกิจปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล 7% กลุ่มธุรกิจปลาแซลมอน 4% กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 7% และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์อื่นๆ 10% ขณะที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทโดยแบ่งตามตลาดมีดังนี้ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 38% สหภาพยุโรป 31% ขายในประเทศ 8% ญี่ปุ่น 8% และประเทศอื่นๆ 16%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ