บริษัทยังคาดว่าอาจจะลงทุนในธุรกิจถ่านหินช่วงปี 55-58 ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 1 พันล้านเหรียญ แต่จะไม่ปรับลดงบลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า และยังมองหาโอกาสที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งการซื้อกิจการและการลงทุนด้วยตัวเอง
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU คาดว่า กำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้จะต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไร 9,293 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิเพียง 1,554 ล้านบาท รับผลกระทบจากราคาถ่านหินที่อ่อนตัวลงและรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่รายได้รวมปีนี้คาดไว้ที่ราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.1 แสนล้านบาท โดยอาจลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้ 1.17 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งจากราคาถ่านหินที่อ่อนตัวลง โดยราคาเฉลี่ยของถ่านหินจากเหมืองอินโดต่ำกว่า 80 เหรียญฯ/ตัน เหมืองออสเตรเลียอยู่ที่ 65 เหรียญฯ/ตัน อีกทั้งบริษัทได้ปรับลดเป้าปริมาณขายลงเหลือ 46 ล้านตัน จากเป้าเดิม 47 ล้านตัน หลังจากตัดสินใจปิดเหมืองออสเตรเลียบางแห่ง แต่คาดว่าจะเปิดตามปกติในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ปริมาณขายในปีนี้ 46 ล้านตันก็ยังถือว่ามากกว่าปีก่อนที่มีปริมาณขายถ่านหิน 43.8 ล้านตัน ซึ่งช่วงที่ถ่านหินขาลงบริษัทหันไปมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ตั้งเป้าลดต้นทุนการผลิตที่อินโดนีเซียลง 10% ออสเตรเลีย 5-7% โดยครึ่งแรกเหมืองอินโดนีเซียลดต้นทุนได้ 11% ออสเตรเลียลดได้ถึง 2% ทั้งปีก็น่าจะทำได้ตามเป้า
ทั้งนี้ มองราคาถ่านหิน ณ ปัจจุบันที่ระดับ 80 เหรียญฯ/ตัน น่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้วและอาจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปในต้นปีหน้า
"มองราคาส่งออกนิวคาสเซิลปีหน้า 83-84 เหรียญฯ แต่ระยะใกล้ยังต่ำกว่า 80 เหรียญฯ จากนั้นแนวโน้มขึ้นแต่คงไม่ถึง 90 เหรียญฯ เพราะยังไม่มีเหตุอะไรที่ทำให้มองราคาสูงเร็ว"นายชนินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอีก 10-25 ปีเชื่อว่าถ่านหินก็ยังจะเป็นเชื้อเพลิงหลักที่แข่งขันได้ดีในตลาด และต้นทุนถูกกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น
สำหรับงบลงทุนปี (55-58) ที่บริษัทตั้งไว้ 1,248 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นธุรกิจไฟฟ้า 378 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคงจะไม่ปรับลด ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจถ่านหิน ซึ่งในธุรกิจถ่านหินอาจใช้งบลงทุนไม่ถึงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ภาวะราคาถ่านหิน โดยปี 55-56 คาดใช้ราว 480 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนั้น บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าทั้งซื้อกิจการเข้ามา ซึ่งจะทำให้มีกระแสเงินเข้ามาทันที หรืออาจสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลา 5-7 ปีกว่าจะสร้างรายได้ โดยเน้นประเทศที่ BANPU เข้าไปทำธุรกิจอยู่แล้ว
ส่วนโรงไฟฟ้าหงสา ในลาว ปัจจุบันการก่อสร้างคืบ 62%คาดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/58 จะช่วยเพิ่มรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งจากเพิ่มกำลังการผลิตจากเหมืองปัจจุบันและแหล่งที่กำลังพัฒนาในมองโกเลีย