ทั้งนี้ ธนาคารมองว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ เอสเอ็มอีรายเล็กจะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะยอดสินเชื่อเฉลี่ย 2-3 พันล้านบาท/เดือน ขณะเดียวกันตามฤดูกาลแล้วช่วงครึ่งปีหลังสินเชื่อจะมีการเติบโตมากกว่าครึ่งแรกอยู่แล้ว ส่งผลให้ยังมีความมั่นใจว่าภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีจะสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของสินเชื่อกลุ่มเอสเอ็มอี ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.9% คาดว่าในปีนี้ NPL ก็จะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ โดยลดลงเล็กน้อยจากปลายปี 55 ที่อยู่ในระดับ 4% โดยแบ่งเป็น NPL ของสินเชื่อปล่อยใหม่ 1.5% ซึ่งยังถือว่าระดับที่สามารถดูแลได้ และในปีนี้ก็คาดว่าจะอยู่ในระดับนี้ หรือถ้าหากปรับตัวขึ้นก็คงจะไม่เกิน 2%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารคงต้องมีการติดตามเศรษฐกิจโดยรวมทั้งภายในและประเทศที่เป็นคู่ค้า โดยเฉพาะในกลุ่มยางพารา สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ที่เป็นคู่ค้ากับประเทศจีนที่ปัจจุบันเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง และต้องมีการติดตามเศรษฐกิจมหภาคที่หากมีปัญหาหรือผลกระทบกับธุรกิจใดก็ต้องมีการติดตามดูแลในพอร์ตสินเชื่อ และต้องมีการเข้าไปติดตามและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ในลูกค้าที่มีหนี้ไม่มากก็ไม่น่าจะมีปัญหา
นายปพนธ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าปีนี้รายได้จากค่าธรรมเนียมจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 35-40% หลังจากครึ่งปีแรกสามารถทำได้แล้วกว่า 20% โดยการเติบโตหลักๆมาจากการปล่อยสินเชื่อ และจากค่าประกันเงินกู้ คือประกันที่จะคุ้มครองหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันลูกค้าให้ความสำคัญมากขึ้น โดยมีอัตราการซื้อประกันแล้วกว่า 80-90% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอี
ในช่วงครึ่งปีแรกกำไรของกลุ่มเอสเอ็มอีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 0.50% เนื่องจากการบริหารต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง และดอกเบี้ยที่ปล่อยให้กับกลุ่ม เอสเอ็มอีอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่หากเทียบกับตลาดแล้วก็ไม่ได้ถือว่าสูงมาก