อนึ่ง โรงกลั่นในย่างกุ้งมีขนาด 5 หมื่นบาร์เรล/วัน แต่เดินเครื่องราว 2- 3 หมื่นบาร์เรล/วัน
นอกเหนือจากธุรกิจโรงกลั่นแล้ว ปตท.ยังมองธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในพม่า ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจก๊าซ ธุรกิจถ่านหิน เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.ยังเตรียมเข้าลงทุนในธุรกิจน้ำมัน โดยคาดว่าจะจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันแห่งแรกของ ปตท.ก่อนเดือน ธ.ค.ที่จะมีการแข่งขันซีเกมส์ในเมืองเนปิดอว์ ประเทศพม่า จากนั้นจะขยายไปที่เมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ โดยมีเป้าหมายในช่วง 5 ปี(ปี 56-60)จะมีสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ในพม่า จำนวน 60 แห่ง ส่วนเงินลงทุนจะมีการทบทวนในงบลงทุนปลายปีนี้
"ถ้า AEC เปิด คาดว่าโอกาสที่เราจะเข้าไปในพม่ามีมากจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด"นายอรรถพล กล่าว
ขณะที่ประเทศลาว,กัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ นั้น ปตท.มีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างชัดเจนเช่นกัน โดยในช่วง 5 ปี(ปี 56-60) โดยมีเป้าหมายผลักดันให้แบรนด์ PTT เป็น Top Brand หรือหนึ่งในใจประชากรอาเซียน แต่คงไม่ได้มุ่งไปที่ส่วนแบ่งตลาดธุรกิจน้ำมันเป็นอันดับหนึ่งในแต่ละประเทศ โดยบริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนในช่วง 5 ปีขยายสถานีบริการน้ำมัน (ไม่รวมพม่า) จำนวน 2,400 ล้าบาท และคาดว่ารายได้จากธุรกิจน้ำมันจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 7 หมื่นล้านบาทในปี 60 จากปี 55 ที่มีรายได้ 5.7 หมื่นล้านบาท
"ธุรกิจน้ำมัน เน้นสร้างแบรนด์ สร้างความรู้จักให้รู้ทั่วกัน เป็นการสร้าง My Share ให้กับ PTT สร้างความรู้จัก สร้งความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์" นายอรรถพล กล่าว
ทั้งนี้ เป้าหมายการตั้งสถานีบริการน้ำมันในอาเซียน แยกเป็นรายประเทศ ได้แก่ ลาว ตั้งเป้าขยายสถานีบริการน้ำมันเป็น 60 แห่งในช่วง 5 ปี จากปัจจุบันมี 20 แห่ง ใช้เงินลงทุน 1,042 ล้านบาท โดยได้สร้างสถานีบริการน้ำมันที่ครบวงจร หรือ PTT Life Station ที่จะมีร้านค้าจิฟฟี่ ร้านกาแฟอเมซอน บริการล้างรถ เข้ามาอยู่ในสถานีบริการน้ำมันด้วย ขณะที่ใน กัมพูชา ตั้งเป้า 5 ปีเพิ่มสถานีบริการน้ำมันเป็น 45 แห่ง จากปัจจุบัน 15 แห่ง ใช้เงินลงทุน 679 ล้านบาท ส่วนฟิลิปปินส์ มีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันเป็น 135 แห่งในช่วง 5 ปีนี้ จาก 54 แห่ง ใช้งบลงทุน 735 ล้านบาท