บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 25.00 บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ซื้อ 33.00 บล.ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 25.50 บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 30.00 บล.ธนชาติ ซื้อ 22.00 บล.บัวหลวง ซื้อ 21.00 บล.ฟิลลิป ซื้อ 26.00 บล.โกลเบล็ก ซื้อ 29.00
นายอดิศร มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) คาดว่า ในปีนี้ KTB จะมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน หรือมีกำไรราว 2.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้ธนาคารจะมีการตั้งสำรองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองจำนวนมากมาหลายครั้งแล้ว แม้ว่าในไตรมาส 4/56 อาจจะต้องตั้งสำรองค่อนข้างสูงอีก แต่เมื่อเทียบกับทั้งปีแล้วจะตั้งสำรองลดลงจากปีก่อน รวมทั้งการเติบโตที่เห็นได้อย่างชัดเจนของรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้น KTB ยังมีความโดดเด่นในด้านของเงินปันผลหากเปรียบเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกัน และ จะได้รับประโยชน์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการเริ่มโครงการก็ตาม แต่หากเริ่มเมื่อไหร่ใดทาง KTB ก็จะเป็นธนาคารที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า สินเชื่อของ KTB จะยังเติบโตได้ตามเป้าหมาย 12% ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัว แต่ครึ่งปีแรกก็สามารถเติบโตได้แล้วกว่า 8% และในครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีการเติบโตแบบชะลอตัว แต่ก็ยังมีการเติบโตอยู่ จึงคาดว่าสินเชื่อทั้งปีจะยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจชะลอตัวและการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนลดลงจะไม่เป็นผลกระทบต่อ KTB มากนัก เนื่องจากลูกค้าหลักของ KTB คือการให้สินเชื่อแก่ภาครัฐ ที่ผ่านมามองว่าภาครัฐยังมีการลงทุนยังไม่มากเท่าที่ควร หากในช่วงครึ่งปีหลังภาครัฐออกมาเร่งการลงทุนให้มากขึ้นก็จะส่งผลให้ KTB มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะ KTB เองมีส่วนแบ่งการตลาดจากการลงทุนของภาครัฐสูงที่สุด
ทางด้านผลประกอบการ คาดว่าในปีนี้ KTB จะมีกำไรสุทธิเติบโตจากปีก่อนประมาณ 23% ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่ากลุ่มที่คาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 20% อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามการตั้งสำรองพิเศษที่ทาง KTB ยังมีการตั้งสำรองที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้กำไรสุทธิออกมาค่อนข้างมีความผันผวน
ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) ปรับประมาณการกำไรของ KTB ในปี 56 ลงเล็กน้อย แต่ปรับลดกำไรสุทธิปี 57 ลง 9% ทั้งนี้ เชื่อว่าผลประกอบการในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 47% แม้ว่าจะไม่มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และมีการตั้งสำรองพิเศษ
การเติบโตของกำไรมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อที่แข็งแกร่ง รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้หลัก ซึ่งได้แรงหนุนจากส่วนต่างของอัตราสินเชื่อ(NIM)ที่มีเสถียรภาพและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น ช่วงครึ่งปีแรก KTB มีการตั้งสำรอง รวมทั้งสิ้น 5.8 พันล้านบาท และคาดว่าจะกันสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 4 นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารน่าจะได้รับเงินปันผลพิเศษในปีนี้จากการไถ่ถอนกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยการตั้งสำรองเพิ่ม
ทั้งนี้ ยังคงมุมมองเชิงบวกในระยะยาวจากความสัมพันธ์ระหว่าง KTB และภาครัฐ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่ KTB จะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะยาว เราจึงคาดว่าผลการดำเนินงานหลักของธนาคารจะฟื้นตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบจากการตั้งสำรองฯ ไม่น่าจะส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรมากนักหลังจากปีนี้