(เพิ่มเติม) RATCH รุกเพิ่มลงทุนพม่า-อินโด-ญี่ปุ่น ปรับแผนเพิ่มกำลังผลิตถึงปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 26, 2013 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) เปิดเผยว่า กลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังคงเน้นลงทุนโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทน ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะปรับให้สมดุลระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่และการซื้อกิจการ เพื่อให้บริษัทฯเติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพทางการเงิน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอันดับแรก เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าจำหน่ายกลับมายังไทยเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศและช่วยรักษาระดับอัตราค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงเกินไป เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมองเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้า ได้แก่ ระบบส่ง การฝึกอบรมด้านเดินเครื่องและบำรุงรักษา ที่จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับบริษัทฯ อีกทางหนึ่งด้วย

“บริษัทตั้งใจแน่วแน่ที่จะขยายฐานธุรกิจไปยังพม่าให้สำเร็จ เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีแหล่งเชื้อเพลิงถ่านหินที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีด้วย สำหรับญี่ปุ่น เป็นเป้าหมายใหม่ที่จะขยายการลงทุน เพราะมีลู่ทางในการเข้าซื้อกิจการและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนที่ให้ผลตอบแทนดี" นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

สำหรับการลงทุนในพม่า บริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในโครงการทวายและลุ่มน้ำสาละวินตอนบนให้สำเร็จ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้ข้อสรุป ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บมจ.บ้านปู(BANPU) ขณะนี้ยังติดข้อจำกัดในเรื่องของราคาค่าไฟฟ้า แต่มองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวต่อเนื่องและมีแหล่งเชื้อเพลิงถ่านหินที่สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี คาดว่ากลางปี 57 น่าจะได้ข้อสรุปว่าสามารถเข้าไปลงทุนได้หรือไม่

รวมถึงยังมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนในญี่ปุ่น เนื่องจากมีลู่ทางในการเข้าไปร่วมลงทุนในกิจการและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ให้ผลตอบแทนดี คาดว่าจะข้อสรุปภายในไตรมาส 4/56 นี้

"บริษัทฯ มีแผนกลยุทธ์สร้างการเติบโต โดยจะผนึกกำลังกับกฟผ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ มุ่งเน้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขายไฟฟ้ากลับไทยและประเทศในทวีปเอเชียอื่นๆที่มีศักยภาพ และแสวงหาการลงทุนเพิ่มในไทยจากโครงการ SPP พลังงานทดแทน และการซื้อกิจการ รวมถึงแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจด้วย ทั้งนี้บริษัทฯตั้งเป้าจะเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของไทยที่ปักฐานธุรกิจผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นโครงการทวาย โครงการลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนบน"นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าว

ปัจจุบัน รายได้ของบริษัทมาจากฐานธุรกิจ 3 แห่ง คือ ไทย ลาว และออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในทั้ง 3 ประเทศ โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษาความเหมาะสมโครงการในสปป. ลาว 3 โครงการ ขณะที่ออสเตรเลียมี 3 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้าง สำหรับประเทศไทย บริษัทได้ให้น้ำหนักการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทน และการร่วมทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการไฟฟ้า

“การผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในกลุ่ม กฟผ. การผสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเดิม และแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพด้านการแข่งขันและการลงทุนของบริษัทฯ ในต่างประเทศให้มีมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องมีการบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรายได้อย่างคุ้มค่า ด้วยแนวทางดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนบริษัทฯ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง สร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างเต็มศักยภาพ และรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน"

ขณะนี้บริษัทมีกำลังผลิตที่เดินเครื่องแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมทั้งสิ้น 6,302.52 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตในไทย 4,586.5 เมกะวัตต์ ลาว 1,206.5 เมกะวัตต์ และออสเตรเลีย 509.52 เมกะวัตต์

สำหรับโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนมีจำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่งในออสเตรเลีย กำลังผลิตรวม 420 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในออสเตรเลีย กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศอื่นในเอเชีย 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บริษัทจะต้องแสวงหากำลังการผลิตขนาดใหญ่อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์จากโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 7,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 59

บริษัทเตรียมทำแผนขยายกำลังการผลิตไปจนถึงปี 63 เป้าหมายกำลังการผลิต 12,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 4/56 จากแผนเดิมที่บริษัทตั้งเป้าถึงปี 59 โดยโครงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเบื้องต้น ได้แก่ โครงการพลังงานทดแทนและซื้อกิจการ SPP ในไทย และ โครงการพลังงานน้ำ และถ่านหินในลาว,โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติในพม่า, โรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย, ซื้อกิจการ IPP และพลังงานหมุนเวียน ในออสเตรเลีบ แล โครงการพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ