ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 366,866 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 26, 2013 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (19 - 23 สิงหาคม 2556) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 366,866 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 73,373 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 77% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 281,320 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 75,856 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 4,210 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.8 ปี) LB155A (อายุ 1.7 ปี) และ LB145B (อายุ 0.7 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 13,509 ล้านบาท 13,080 ล้านบาท และ 12,019 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13919C (อายุ 28 วัน) CB13N21B (อายุ 91 วัน) และ CB13910A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 31,755 ล้านบาท 25,410 ล้านบาท และ 23,919 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของอินโดรามา เวนเจอร์ส รุ่น IVL174B (A+) มูลค่าการซื้อขาย 911 ล้านบาท หุ้นกู้ของธนาคาร เกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) รุ่น KK142A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 198 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) รุ่น GLOW17OA (A) มูลค่าการซื้อขาย 187 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้น ในช่วงประมาณ +1 ถึง +22 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเผชิญกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในของการปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ(QE) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ(FOMC) วันที่ 17-18 กันยายนที่จะถึงนี้ ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับท่าทีของประธานธนาคารกลางสหรัฐในแต่ละสาขาที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับลดขนาดของมาตรการ QE ขณะเดียวกัน การประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2556 ของไทย ซึ่งขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.8% จากระดับ 5.3% ในไตรมาส 1/2556 และถือเป็นการหดตัวลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน จนเศรษฐกิจไทยถูกมองว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจนมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ในช่วงท้ายสัปดาห์

ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ขายสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 24,722 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 9,587 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 15,135 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดขายสุทธิ 105 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ