NGO ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องตั้ง คกก.อิสระตรวจสอบกรณีน้ำมันรั่วฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 27, 2013 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วไหล นำโดย นายธารา บัวคำศรี พร้อมด้วยตัวแทนจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ(EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Greenpeace Southeast Asia) และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม(GSEI) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) กรณีทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลใน จ.ระยอง ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบหนังสือ

นายธารา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวส่งผลให้คราบน้ำมันได้ถูกพัดเข้าชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แม้บริษัทดังกล่าวและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมาตรฐาน แต่ภาคประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในข้อมูลและการดำเนินงานที่ผ่านมา

"คณะกรรมการตรวจสอบทั้งที่ตั้งขึ้นโดยพีทีทีจีซี คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน(กปน.) และหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่มีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระและภาคประชาชน ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยกระบวนการและรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ" นายธารา ระบุ

นายธารา กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดจึงได้มีแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมีการรณรงค์เรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนผ่าน www.change.org และมีผู้ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวจำนวนมาก บัดนี้มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาน้ำมันรั่วมากกว่า 30,000 คน

นายธารา กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.เป็นคณะกรรมการอิสระระดับชาติที่แต่งตั้งโดยนายกฯ 2.มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน 3.มีหน้าที่หลักดังต่อไปนี้ ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล ตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล และจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย โครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอนาคต

4.องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย ประธานเป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม มีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนิเวศน์ ด้านสุขภาพ ด้านกฎหมาย ภาคประชาสังคม(องค์กรพัฒนาเอกชนและหรือองค์กรประชาชนในพื้นที่) และ 5.กระบวนการทำงานของคณะกรรมการต้องมีความโปร่งใส เปิดเผยการดำเนินงานและรายงานต่อสาธารณะ

ด้านนายสุภรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นจะนำเรื่องนี้กลับไปเสนอให้นายกฯ รับทราบ เพื่อพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ