พร้อมกันนี้ผู้ฟ้องคดียังได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งระงับการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนในวันที่ 1ก.ย.นี้ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพาษาคดี โดยให้มีคำสั่งคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาทไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างพลังงานให้ถูกต้องเป็นธรรม
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย เพราะขั้นตอนการดำเนินการไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ซึ่งโครงสร้างราคาไม่เป็น หากดำเนินการใน 3 เรื่องจะไม่จำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ คือ 1.รัฐบาลต้องกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นในอัตรา กก.ละ 12.55 บาท ไม่ใช่จ่ายเพียง กก.ละ 1 บาท เพราะรัฐอ้างว่าที่ต้องปรับขึ้นราคา เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะติดลบสุทธิประมาณ 4,628 ล้านบาท แต่ถ้าให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายในอัตราเท่ากับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น จะทำให้ปีหน้ามีเงินในกองทุนน้ำมันราว 3 หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซ
2.ปรับอัตราค่าผ่านท่อให้เป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันคิดราคาแพงเกินความเป็นจริง และ 3.กำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเท่ากัน ไม่ควรมีรายใดได้อภิสิทธิเหนือกว่า เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายมีการเลือกปฎิบัติ โดยมีการจำหน่ายก๊าซจากอ่าวไทยให้แก่โรงแยกก๊าซของ ปตท.ในอัตรา 220 บาท/ล้านบีที่ยู ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และผู้บริโภคต้องซื้อก๊าซจากพม่าในราคา 274 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าราคาเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยประมาณร้อยละ 25
"หากรัฐทำโครงสร้างราคาเนื้อก๊าซในทุกกิจการพลังงานให้เท่ากันแล้ว ตอนนั้นจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นราคาก๊าซก็เชื่อว่าประชาชนสามารถยอมรับได้" น.ส.สารี กล่าว
ด้าน น.ส.รสนา มองว่ามติครม.ที่ออกมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติไม่มีอำนาจที่จะไปจัดสรรก๊าซในประเทศจากโรงแยกก๊าซ LPG ให้กับภาคครัวเรือนและอุตสากรรมภาคปิโตรเคมีใช้ก่อน และเมื่อมีมติก็ทำให้มตินั้นไม่ได้ และเมื่อมตินั้นถูกเสนอครม.แล้วครม.เห็นชอบจึงทำให้มติครม.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เพราะคณะกรรมการฯไม่มีอำนาจ อีกทั้งมติครม.ดังกล่าวยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบมจ. ปตท. (PTT)เพียงเจ้าเดียวรายเดียว เมื่อ บมจ.ปตท. แยกได้ก๊าซ LPG แล้ว ก็จะขายเป็นวัตถุดิบของปิโตรเคมีให้แก่บริษํทในเครือ ซึ่งอุตสหากรรมปิโตรเคมีอื่นไม่ได้อยู่ในแนวท่อก๊าซเดียวกับ ปตท.มติ ครม.จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84(5) ที่กำหนดให้การประกอบกิจการต้องมีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อมและคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันการอ้างต้นทุนโรงแยกก๊าซที่ 24.82บาท/กิโลกรัม ตามมติ ครม.เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม เพราะราคาก๊าซที่ได้จากแหล่งสัมปทานก๊าซธรรมชาติสิริกิติ์ เดือน ม.ค. - พ.ค.56 อยู่ 8 - 9 บาท/กก.ดังนั้น ราคาต้นทุนการผลิตจึงไม่ควรจะถึง กก.ละ 24.82 บาท
"ต้นทุนโรงแยกก๊าซที่ 24.82บาท/กิโลกรัม ที่ ครม.มีมตินั้นเป็นไปตามผลการศึกษาที่ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ว่าจ้างบริษัท เอ็นไวร์ เทค คอนซัลแต้นท์ จำกัด และบริษัท ดี ลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศที่ปรึกษา จำกัด ทำการศึกษา ซึ่งนายสุเทพ เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติโดยตำแหน่ง แต่ก็ยังมีชื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระ ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ข้อเสนอการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อ ครม.จึงย่อมมีประโยชน์ทับซ้อน จึงจำเป็นที่จะต้องฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอน" น.ส.รสนา กล่าว
ทั้งนี้ น.ส.รสนา กล่าวว่า หากศาลมีคำสั่งระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซในวันที่ 1 ก.ย.นี้ไว้ก่อนก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารของรัฐ เพราะการปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนไม่มีผลกระทบ เนื่องจากผู้ค้าผู้จำหน่ายต้นทุนที่ซื้อหรือกำไรก็เท่าเดิม ขณะที่ผู้ผลิต LPG ในประเทศส่วนใหญ่ คือ บมจ.ปตท.(PTT) และบริษัทในเครือ ยังคงได้รับเงินชดเชยจากองทุนน้ำมันฯ อยู่แล้ว แม้ไม่ได้ชดเชยก็มีกำไรจากธุรกิจก๊าซ ทั้งในส่วนการสำรวจ ผลิต จำหน่าย เป็นแสนล้านบาทต่อปี ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ไม่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ล่าสุดทราบว่ากำลังจะขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที โดยให้เหตุผลว่า 70% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ