แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทอีซี่ บายและหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทสะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่ดีขึ้นอันเป็นผลมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ระมัดระวัง โดยบริษัทสามารถทำกำไรที่แข็งแกร่งในปี 2553 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ซึ่งทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเติบโตและอันดับเครดิตของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่ดีและเงินทุนที่เข้มแข็งของบริษัทช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค
อันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันสะท้อนถึงฐานะการเงินที่อ่อนแอลงของ ACOM Co., Ltd. บริษัทให้สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ของบริษัท ทั้งนี้ ฐานะการเงินของ ACOM อ่อนแอลงตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นทั้งสำหรับรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และชำระคืนลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยไว้เกินตามผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบตามกฎหมาย “Money Lending Business Law" ในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจน้อยลงก็ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ACOM ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันACOM ได้รับอันดับเครดิตจาก Standard & Poor’s (S&P) ที่ระดับ “BB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ตามเงื่อนไขสัญญาการค้ำประกันที่กำหนดภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น บริษัทแม่ผู้ค้ำประกันจะให้การค้ำประกันเต็มจำนวนแก่หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้หากบริษัทอีซี่ บายไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ในกรณีที่บริษัทถูกฟ้องล้มละลายและมีการจ่ายคืนหนี้แก่ผู้ถือหุ้นกู้แต่หนี้นั้นถูกเรียกคืน ภาระการชำระหนี้ดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัทผู้ค้ำประกันและจะมีผลในการชำระหนี้ทันที นอกจากนี้ หาก ACOM มีการควบรวมกิจการ บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการจะต้องรับภาระผูกพันในการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวด้วย หาก ACOM ไม่สามารถจ่ายชำระได้ตามกำหนดหลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สามารถดำเนินการตามกฎหมาย ณ ศาลพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่นเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินที่ผิดนัดชำระคืนได้ ภาระผูกพันของผู้ค้ำประกันภายใต้สัญญาการค้ำประกันนี้จะมีลำดับของสิทธิเรียกร้องเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่น ๆ ของผู้ค้ำประกัน
แนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" สำหรับอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทอีซี่ บายสะท้อนถึงฐานะทางการเงินของ ACOM ที่เข้มแข็งขึ้นในปีงบประมาณ 2555 และแนวโน้มอุตสาหกรรมการให้สินเชื่อเพื่อผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ แรงกดดันต่อผลประกอบการทางการเงินก็ลดลงเนื่องจากแนวโน้มที่ลดลงของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองทั้งสำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการคืนเงินให้แก่ลูกค้าที่จ่ายดอกเบี้ยไว้เกิน การทบทวนอันดับเครดิตหุ้นกู้อาจมีการพิจารณาใหม่เมื่อทริสเรทติ้งเห็นการเปลี่ยนแปลงของการสนับสนุนที่ ACOM ได้รับจาก Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
ฐานะทางการเงินของ ACOM ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 (เมษายน 2554 - มีนาคม 2555) สำหรับปีงบประมาณ 2556 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2556) ACOM รายงานผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 21 พันล้านเยนเนื่องจากการลดลงอย่างมากของการกันสำรองเพิ่มจากการที่ผู้กู้สามารถขอดอกเบี้ยที่จ่ายเกินคืนได้และการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แม้ว่าบริษัทจะมีพอร์ตสินเชื่อและอัตราผลตอบแทนลดลง แต่บริษัก็ยังสามารถรักษาระดับกำไรสุทธิที่ใกล้เคียงกับระดับในปีงบประมาณ 2555 ได้ บริษัทมีการกระจายตัวไปสู่ธุรกิจการค้ำประกันสินเชื่อโดยการเป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่น จึงมีผลให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจค้ำประกันสินเชื่อต่อรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนไม่ถึง 5% ในปีงบประมาณ 2553 เป็น 13% ในปีงบประมาณ 2556
ณ เดือนมีนาคม 2556 สินเชื่อรวมของบริษัทอีซี่ บายมีจำนวน 84 พันล้านเยน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 9.5% ของสินเชื่อรวมของ ACOM บริษัท อีซี่ บายเป็นบริษัทย่อยแห่งแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ ACOM และมีความสำคัญเชิง กลยุทธ์สำหรับ ACOM ในการเป็นผู้ประกอบการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภครายสำคัญในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ACOM ยังมีพันธะสัญญาที่เหนียวแน่นกับบริษัทในการให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและธุรกิจอันได้แก่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ทางธุรกิจที่ใช้ในทางปฏิบัติด้วย
การมีประสบการณ์มากกว่า 15 ปีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยส่งผลให้บริษัท อีซี่ บายมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ในขณะที่การสนับสนุนทางการเงินและธุรกิจอย่างต่อเนื่องจาก ACOM เป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมฐานะทางการตลาดและการเติบโตของบริษัทในอนาคต แม้ว่าลักษณะของธุรกิจจะมีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้วจากการปล่อยสินเชื่อต่อรายในจำนวนไม่มากให้แก่ลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก แต่บริษัทก็ยังคงมีความเสี่ยงทางด้านเครดิตเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบเนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย
ตั้งแต่ปี 2551 คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 5.62% ในปี 2550 เป็น 2.08% ในปี 2555 และ 2.04% ณ เดือนมิถุนายน 2556 ในทางตรงข้าม สัดส่วนเฉลี่ยของอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นเป็น 3% ณ เดือนธันวาคม 2555 และเดือนมิถุนายน 2556 จาก 2.75% ในปี 2554 เนื่องจากบริษัทได้ปรับฐานลูกค้าจากกลุ่มผู้ทำงานในโรงงานมาเป็นกลุ่มผู้ทำงานในสำนักงานตั้งแต่ปี 2552 จึงทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเพียงบางส่วน บริษัทได้นำความรู้ในการดำเนินธุรกิจและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ จาก ACOM มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดของไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบจำลองการให้คะแนนความน่าเชื่อถือของลูกค้า (Credit Scoring) ที่ทันสมัย การบริหารร้านค้าเครือข่าย และฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรฐานและขั้นตอนการติดตามจัดเก็บหนี้เพื่อใช้ควบคุมคุณภาพสินทรัพย์
บริษัทมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้นหลังปี 2550 จนเริ่มกลับมามีกำไร โดยในปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 326 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 925 ล้านบาทในปี 2553 และเป็น 1,310 ล้านบาทในปี 2554 สำหรับปี 2555 รายได้สุทธิทำสถิติสูงสุดที่ระดับ 1,984 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 51% จากปี 2554 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จาก 1,010 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ การขยายจำนวนสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง การควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลง
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 บริษัทได้จัดสรรกำไรสะสมจำนวน 3,600 ล้านบาทให้แก่ผู้ถือหุ้นในรูปของหุ้นปันผล ซึ่งมีผลให้เงินทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,900 ล้านบาท จาก 300 ล้านบาท ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บริษัทมีเงื่อนไขที่จะต้องดำรงเงินทุนให้เพียงพอ เพื่อให้หนี้สินของบริษัทมีสัดส่วนเท่ากับหรือไม่เกิน 7 เท่าของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วของบริษัท อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 5.70% ในปี 2550 เป็น 10.58% ในปี 2553 เป็น 14.56% ในปี 2554 เป็น 18.57% ในปี 2555 และเป็น 20.79% ณ เดือนมิถุนายน 2556 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยเพิ่มจาก 14 เท่าในปี 2551 เป็นประมาณ 4 เท่าในปี 2555 ณ เดือนมิถุนายน 2556 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.7 เท่า