ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาโครงการ “IDEO Q พระราม 4" สำหรับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ ในรูปแบบห้องชุดพร้อมตกแต่ง ขนาดเริ่มต้น 21 ตารางเมตร บนอาคารชุดสูง 40 ชั้น จำนวน 1,602 ยูนิต ราคาเริ่มต้นช่วง Pre-Sales ที่ 2.89 ล้านบาท มูลค่าโครงการประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดขายในไตรมาส 4/56 และคาดว่าจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์และรับรู้รายได้ในปี 59
นายชานนท์ กล่าวว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ มีการขยายตัวออกไปตามแนวระบบขนส่งมวลชนและตามแรงผลักดันของความต้องการจากภาคธุรกิจ ศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนต้องการอยู่ใกล้กับสถานีระบบขนส่งมวลชน จำเป็นจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ รวมถึงการวางแผนพัฒนาโครงการต้องคำนึงถึงอุปทานหรือซัพพลายที่ตลาดจะสามารถรองรับได้ในช่วงเวลาที่โครงการจะเปิดตัวหรือสร้างเสร็จ โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ
ปัจจุบันประเทศไทยมีรูปแบบการขนส่งมวลชนที่หลากหลาย ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งระบบขนส่งทางบก ถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ควรพัฒนาอย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งหากประเทศไทยพัฒนา ระบบขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นด้วย
หากมองประเทศต้นแบบด้านระบบขนส่งมวลชนแล้ว ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบระบบขนส่งมวลชนที่มีความพร้อมที่สุดในโลก เพราะญี่ปุ่นสามารถพัฒนาระบบรางที่สมบูรณ์ได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น แต่การบริหารจัดการขนส่งมวลชนสามารถทำได้อย่างมีระบบ โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว ที่ถือเป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
โดยประเทศญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางที่สำคัญ ได้แก่ รถไฟฟ้า และรถใต้ดิน ที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่และมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในโลก ถึงแม้จะมีประชากรจำนวนกว่า 13 ล้านคนต่างเข้ามาแออัดอยู่ในที่กรุงโตเกียว แต่กรุงโตเกียวแห่งนี้ก็ยังได้รับความนิยมและถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 5 เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก และได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองที่มีระบบขนส่งที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีความเร็วและระบบการบริหารจัดการได้อย่างดีที่สุด ได้นำพาความเจริญไปสู่พื้นที่ส่วนต่างๆ ได้สำเร็จแล้ว ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับชุมชน
ในขณะที่ประเทศไทย มีแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572)มีจำนวนทั้งสิ้น 12 เส้นทาง ได้แก่ สาย 1: รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย) สาย 2: รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) สาย 3: รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (บางซื่อ-พญาไท-สุวรรณภูมิ) สาย 4: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-สมุทรปราการ) สาย 5: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) สาย 6: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4)
สาย 7: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) สาย 8: รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) สาย 9: รถไฟฟ้าสายสีชมแพู (แคราย-มีนบุรี) สาย 10: รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สาย 11: รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9) สาย 12: รถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) ระยะทางรวม 495 กม. เป็นโครงข่ายสายหลัก 8 เส้นทาง และโครงข่ายสายรอง 4 เส้นทาง ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการขนส่งเช่นเดียวกับกรุงโตเกียว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยิ่งทำให้ทิศทางของเมืองเปลี่ยนไป
"ระบบขนส่งมวลชนเห็นได้ชัดว่ามีผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมเกาะแนวรถไฟฟ้า เพราะเมื่อเกิดรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ยิ่งก่อให้เกิดการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มากมายตามไปด้วย ซึ่ง 60% ของการก่อสร้างมักอยู่ตามแนวเส้นทางขนส่งมวลชนเป็นหลัก"นายชานนท์ กล่าว