ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวให้เป็น 40-50 MW ในอนาคต โดยจะทยอยเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 1-2 MW คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดราว 4 พันล้านบาท
อนึ่ง KIAT จะจัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท เกียรติธนากรีนเพาเวอร์ จำกัด ภายในเดือน ก.ย.56 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1,000,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท จำนวนหุ้น 200,000 หุ้น โครงสร้างการถือหุ้น KIAT ถือหุ้นร้อยละ 88.33 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชูศักดิ์ภาคใต้พาราวู้ด ถือหุ้นร้อยละ 10 และ นายอมรศักดิ์ เบญจพลาภรณ์ ถือหุ้นร้อยละ 1.67
"เราจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมากโดยเราถือหุ้นสัดส่วน 88.33% โรงเลื่อยไม้และยาพารา ซึ่งเป็นซัพพลายวัตถุดิบเราถือ 10% และคนที่ศึกษาด้านเทคนิคถือ 1.67% ใช้เวลาประมาณ 12 เดือน ก็สามารถผลิตไฟฟ้าจำหน่ายได้ เราก็จะขายไฟให้กฟภ. Adder 0.50 บาท นโยบายเราจะขยายกำลังการผลิตให้เป็น 40-50 MW ก็ต้องสร้างเพิ่มประมาณ 30-40 โรง ขนาด 1-2 MW"นายเกียรติชัย กล่าว
สาเหตุที่หันมาทำโรงไฟฟ้าเพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและเสริมรายได้นอกเหนือจากธุรกิจขนส่งซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และธุรกิจไฟฟ้าสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องแข่งขันราคากันมาก ซึ่งบริษัทศึกษามานานแล้ว
"เน้นสร้างในภาคใต้ ในภาคใต้มีโรงเลื่อยไม้และยางพารา 40-50 แห่ง เราเลือก 30-40 แห่งที่จะมาร่วมกับเราเพื่อเป็นซัพพลายวัตถุดิบก็พอแล้ว เงินลงทุนที่ใช้ก็ราวๆ 4 พันล้านบาท หรือโรงละไม่เกิน 100 ล้านบาท และมองว่าภายใน 3 ปีก็น่าจะคืนทุน"นายเกียรติชัย กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของ KIAT ปีนี้ยังมั่นใจว่ารายได้จะเติบโต 10% จากปี 55 ที่มีรายได้ 977.89 ล้านบาท ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจขนส่งสารเคมี แร่สังกะสี โลหะหนัก และวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ซึ่งปริมาณการขนส่งมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการของลูกค้า และบริษัทเน้นให้บริการในงานที่มีอัตรากำไร(มาร์จิ้น)ไม่ต่ำกว่า 10% พร้อมทั้งมั่นใจว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะทำได้มากกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 137.12 ล้านบาท