ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการลงทุนจำนวนมากและความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั่วโลกถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าได้ต่อไป แม้บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าในทำเลใหม่จำนวนมาก แต่การลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทลดการพึ่งพิงพื้นที่ให้เช่าที่มีอยู่ในเขตจังหวัดอยุธยาลง
TICON เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2556 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 109 แห่งและมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 72 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ และพื้นที่โลจิสติกส์หลักของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 584,708 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในช่วงที่ผ่านมารายได้หลักของบริษัท (มากกว่า 60%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ประมาณ 30% ของรายได้มาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า
ในระหว่างปี 2550-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 บริษัทได้เลื่อนการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งไปเป็นปี 2555 เป็นผลทำให้มูลค่าสินทรัพย์ที่ขายให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2554 ลดลงเหลือ 944 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 4,333 ล้านบาทในปี 2555
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJNA) (20.6%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (6.6%) และกลุ่มผู้บริหารของบริษัท (6.5%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง
ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวอยู่ในทำเลต่าง ๆ 15 ทำเลและมีคลังสินค้าให้เช่าอีก 16 ทำเล รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2556 บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 56% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ) (17%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (10%) บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (10%) บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม(TFD) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (7%)
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการคลังสินค้าให้เช่ารายใหญ่ที่สุดของประเทศ จากข้อมูลของ CBRE และข้อมูลที่ทริสเรทติ้งรวบรวมไว้ พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 40% ของพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของทั้งประเทศ รองลงมาเป็นของ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA) (32%)
ในปี 2555 ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงงานให้เช่าของบริษัทอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากเหตุอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 2554 หากไม่นับรวมผลกระทบจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมแล้ว พื้นที่โรงงานให้เช่าของบริษัทลดลง 5% ในปี 2555 ในขณะที่พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเติบโต 44% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้พื้นที่ให้เช่ารวมเพิ่มขึ้น 15% ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจคลังสินค้าช่วยลดผลกระทบจากธุรกิจโรงงานให้เช่าที่อ่อนตัวลงในปี 2555 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 พื้นที่ให้เช่ารวมเพิ่มขึ้น 13% จาก 518,948 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2555 เป็น 584,708 ตร.ม. ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 พื้นที่โรงงานให้เช่าเพิ่มขึ้น 15% โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ส่วนการเติบโตของพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้น 10%
ถึงแม้ว่าพื้นที่ให้เช่าและรายได้ค่าเช่าในปี 2555 และครึ่งแรกของปี 2556 จะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเช่า ยกเว้นพื้นที่เช่าล่วงหน้า (Pre-leased area) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 กลับปรับตัวลดลงเป็น 67% เปรียบเทียบกับ 73% ณ สิ้นปี 2555 และ 94% ณ สิ้นปี 2554 อัตราการเช่าที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในทำเลใหม่ในช่วงปี 2555 ถึงปี 2556 รวมทั้งยังมีพื้นที่ให้เช่าที่ว่างจำนวนมากในเขตที่เคยน้ำท่วม
รายได้ค่าเช่าของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2555 ถึงครึ่งแรกของปี 2556 โดยรายได้ค่าเช่าในปี 2555 เพิ่มขึ้น 20% เป็น 1,053 ล้านบาทจาก 880 ล้านบาทในปี 2554 สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 รายได้ค่าเช่าอยู่ที่ระดับ 558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นของค่าเช่าในครึ่งแรกของปี 2556 เท่ากับ 73% ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดที่ 63% ในปี 2555 หลังเหตุการน้ำท่วมใหญ่ การเพิ่มขึ้นของกำไรขั้นต้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เช่าโดยเฉพาะในส่วนของโรงงานให้เช่า การปรับขึ้นราคาค่าเช่า การลดลงของค่าซ่อมแซมจากเหตุการณ์อุทกภัย และการหยุดคิดค่าเสื่อมราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่จัดประเภทเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายในเดือนพฤษภาคม 2556 หากไม่รวมผลกระทบจากการจัดประเภทสินทรัพย์ใหม่ อัตรากำไรขั้นต้นของค่าเช่าในครึ่งแรกของปี 2556 จะเท่ากับ 69% ถึงแม้อัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงน้อยกว่าระดับ 72%-77% ที่บริษัทสามารถทำได้ในช่วงปี 2551-2554 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาภายหลังจากเหตุอุทกภัย
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากบริษัทลงทุนสร้างโรงงานและคลังสินค้าในทำเลอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกและจังหวัดใหญ่ ๆ บริษัทมีภาระหนี้เงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 15,257 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 เทียบกับ 8,757 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 66.5% ณ เดือนมิถุนายน 2556 จาก 60.4% ในปี 2554
อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในระยะสั้นคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงและค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากบริษัทมีแผนจะลงทุนเพิ่มประมาณ 12,000 ล้านบาทในปี 2556 และประมาณปีละ 8,000-9,000 ล้านบาทในปี 2557-2558 เงินลงทุนในปี 2556 ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ซื้อที่ดินในจังหวัดสำคัญ ๆ และในเขตพื้นที่โลจิสติกส์หลักของประเทศ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และพื้นที่บริเวณถนนบางนา-ตราด เป็นต้น ทั้งนี้ เงินลงทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งจะมาจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยบริษัทมีแผนจะขายโรงงานและคลังสินค้ามูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาทในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556
ภายหลังจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2555 หลังจากเหตุอุทกภัย ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการในปี 2556 อาทิ ภาวะการส่งออกที่อ่อนตัวลงเนื่องจากความต้องการที่ลดลงทั่วโลก รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศซึ่งส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลง ถึงแม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง แต่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหลายประเภทโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่ารวมสูงถึง 632 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การที่ประเทศไทยเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างประเทศก็เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศและมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี อีกทั้งยังอยู่ในทำเลที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยเฉพาะในขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นด้วย