สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB176A (อายุ 3.8 ปี) LB236A (อายุ 9.8 ปี) และ LB21DA (อายุ 8.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 8,664 ล้านบาท 5,456 ล้านบาท และ 5,206 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB13924A (อายุ 14 วัน) CB13D06B (อายุ 92 วัน) และ CB13O31A (อายุ 55 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 38,606 ล้านบาท 33,171 ล้านบาท และ 13,976 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด รุ่น MPSC21OA (A+) มูลค่าการซื้อขาย 947 ล้านบาท หุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)รุ่น BAY142B (AA-) มูลค่าการซื้อขาย 679 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด รุ่น RG149A (AA+) มูลค่าการซื้อขาย 409 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งเส้น ในช่วงประมาณ +1 ถึง +9 Basis Point (100 Basis Point มีค่าเท่ากับ 1%) ตามความกังวลเกี่ยวกับการลดขนาดของมาตรการ QE ที่ยังมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในทวีปตะวันออกกลางเริ่มคลี่คลายลง ภายหลังสหรัฐฯ ยังต้องรอผลการลงมติของสภาคองเกรส ต่อข้อเสนอของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่จะใช้กำลังทางทหารเข้าตอบโต้รัฐบาลซีเรีย ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม จากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่น Benchmark อายุ 10 ปี ในช่วงกลางสัปดาห์ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างน้อย โดยจำหน่ายได้เพียง 8,730 ล้านบาท จากวงเงินของการประมูลทั้งสิ้น 12,500 ล้านบาท มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (ราคาพันธบัตรลดลง) ทั้งนี้ สถานการณ์การไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติจากตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนของมาตรการ QE ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 กันยายนนี้
ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ ในตราสารหนี้ทุกประเภท (ทั้งระยะสั้น และระยะยาว) รวมกัน 5,211 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,642 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) 3,569 ล้านบาท ทางด้านนักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อสุทธิ 143 ล้านบาท