พร้อมกันนั้น บริษัทมีแนวทางจัดการล้างผลขาดทุนสะสม 1 หมื่นล้านบาท และเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้นที่ปัจจุบันลดลงเหลือ ประมาณ 500 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในปีนี้ รวมทั้งแนวทางที่จะหาพันธมิตรเข้ามาช่วยทั้งด้านการเงินและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามต้องหารือกับผู้ถือหุ้นใหญ่คือ รฟม. และ บมจ.ช.การช่าง(CK) "การแก้ไขปัญหาการเงินให้จบ หรือเพิ่มเติมทุนใหม่ ใครก็ได้ไม่ใช่แค่มีเงิน แต่เราต้องการความร่วมมือด้วย ในหลักการอยากให้เสร็จในปีนี้...หาคนที่อยากจะซื้อหุ้นเรา"นายชัยวัฒน์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีหนี้สถาบันการเงินจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4%ต่อปี โดยธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้หลัก หรือ 40% ของมูลหนี้ ธนาคารทหารไทย (30%) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (20%) และ ธนาคารธนชาต (10%) นอกจากนี้ บมจ.ช.การช่าง(CK) บริษัทแม่ ให้เงินกู้ 3 พันล้านบาท
ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การออกกองทุนในขณะนี้คงไม่สามารถระดมทุนได้สูง แต่หากรอจังหวะที่บริษัทมีฐานะดีขึ้นก็เชื่อว่าการระดมทุนผ่านกองทุนจะได้เงินเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเป็นตัวหยุดขาดทุนให้กับบริษัท โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการต้นปี 59 และจะทำให้ผลประกอบการพลิกมีกำไรได้ แต่หากเปิดเดินรถในไตรมาส 2/59 อาจล่าช้าไปบ้าง เพราะคาดว่าจะต้องใข้แวลา 12 เดือนที่จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย
ในขณะเดียวกัน งานจัดหาระบบรถไฟฟ้า CK จะเป็นคนกู้ให้ BMCL ทำให้ BMCL ไม่มีภาระการเงินในสายสีม่วง และ CK รับเหมาช่วงใช้เวลา 1,200 วัน หลังจาก BMCL จะเดินรถตามสัญญาสัมปทานได้ 26 ปี 8 เดือน โดยคาดว่าหลังจากเดินรถสายสีม่วงจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 4 แสนเที่ยว/วัน
ขณะที่การเดินรถสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ 20 กม.ในปัจจุบัน มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในวันธรรมดาผู้โดยสารปรับขึ้นมาแตะ 3 แสนเที่ยว/วันหลายครั้ง จึงมั่นใจว่าในปีนี้จำนวนผู้โดยสารจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่เฉลี่ย 2.5 แสนเที่ยว/วัน จากปีก่อนมีจำนวนเฉลี่ย 2.2 แสนเที่ยว/วัน
พร้อมทั้ง คาดว่าปีนี้กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)จะทำได้ตามเป้าหมาย 500 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน และผลขาดทุนสุทธิจะลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 981 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA ของ BMCL เริ่มเป็นบวกเมื่อปี 53 ที่มี EBITDA 100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 200 ล้านบาทในปี 54 และ 500 ล้านบาทในปี 55
ทั้งนี้ การสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอาจต้องรอสั่งในคราวเดียวกับการสั่งซื้อรถไฟฟ้าในเส้นทางสายสีม่วง เพราะสั่งจำนวนน้อยราคาจะแพง แต่หากสั่งซื้อปริมาณมากก็จะได้รับส่วนลดสูง
นอกจากนี้บริษัทเร่งหารายได้อื่น ได้แก่ รายได้จากการโฆษณา ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 150 ล้านบาท โดยบริษัทได้ปรับพื้นที่โฆษณาเป็นระบบดิจิตอลที่จะเริ่มได้ในต้นปีหน้า
ส่วนรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ปัจจุบันเปิดใช้พื้นที่ 4 แห่งจากทั้งหมดที่มี 11 แห่ง โดยบริษัทจะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งในปีนี้ที่สถานีพระราม 9 ในเดือนก.ย.นี้ จากปัจจุบันเปิดที่สถานีกำแพงเพชร สถานีสุขุมวิท สถานีจตุจักร และ สถานีพหลโยธิน และปีหน้าตั้งเป้าเปิดอีก 6 แห่งให้ครบทั้ง 11 แห่ง