อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ภายในประเทศและการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก LDPE Homopolymer (LDPE) และ LDPE Copolymer (EVA)
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมทั้งภาระหนี้ที่ต่ำในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงความเสี่ยงจากต้นทุนราคาถ่านหินที่ผันผวน ประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นของบริษัทหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจปูนซีเมนต์เอาไว้ได้ และธุรกิจเม็ดพลาสติกจะฟื้นตัวในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ แนวโน้มยังสะท้อนถึงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในระดับที่ไม่เกิน 30% หรืออัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ไม่เกิน 0.4 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า
TPIPL ก่อตั้งในปี 2530 โดยตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ โดย ณ เดือนสิงหาคม 2556 ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นประมาณ 56% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัทดำเนินธุรกิจ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และคอนกรีต) และธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก (LDPE และ EVA) บริษัทมีรายได้ในปี 2555 อยู่ที่ 2.78 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็น 68% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจเม็ดพลาสติกคิดเป็น 26%
สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีกำลังผลิตที่ 9 ล้านตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 18% บริษัทมีสายการผลิตปูนซีเมนต์ครบวงจรตั้งแต่การผลิตปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป คอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยความต่อเนื่องในสายการผลิตปูนซีเมนต์ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินที่ผันผวนถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์
บริษัทเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA รายใหญ่ของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตที่ 158,000 ตันต่อปี ในปี 2555 บริษัทมีสัดส่วนทางการตลาดในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ LDPE อยู่ที่ 20% และปัจจุบันเป็นผู้ผลิต EVA รายเดียวในประเทศ บริษัทเน้นการผลิต EVA เพื่อส่งออกเป็นหลัก ธุรกิจเม็ดพลาสติกของบริษัทมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทซื้อวัตถุดิบ Ethylene จากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตลอดจนความท้าทายจากสินค้าทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการแข่งขันจากผู้ผลิตทั่วโลกด้วยเช่นกัน บริษัทไม่มีข้อจำกัดในการซื้อ Ethylene จากผู้จำหน่ายรายปัจจุบันเพียงรายเดียว แต่ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพิงผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวสะท้อนให้เห็นถึงประวัติการมีแหล่งซื้อ Ethylene ที่น้อยเกินไป อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงประโยชน์จากการประกอบธุรกิจที่หลากหลาย โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่อาจผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้รับการถ่วงดุลโดยรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ EVA
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางส่วนจากประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นหลังจากที่บริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในอดีตเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างบริษัททั้งกับสถาบันการเงินไทยและต่างประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงในช่วงปี 2555 ถึงครึ่งแรกของปี 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 เนื่องจากราคาเม็ดพลาสติกที่ลดลงอย่างมากหลังจากที่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอ (PTTGC) เริ่มผลิต LDPE ในปี 2554 ด้วยกำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ประมาณการของทริสเรทติ้งในกรณีฐานคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ 1%-4% ในปี 2556-2557 และที่ 12%-15% ในปี 2558-2559 โดยอัตราการเติบโตในช่วง 2 ปีข้างหน้าสะท้อนถึงแรงกดดันด้านราคาที่อาจจะยังคงมีอยู่ในธุรกิจเม็ดพลาสติก ส่วนการปรับเพิ่มขึ้นของการเติบโตในปี 2558 สะท้อนถึงแหล่งรายได้ใหม่จากโครงการขยายโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ตลอดจนผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ และธุรกิจโรงไฟฟ้า
บริษัทมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสี่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 และในปี 2555 อยู่ที่ 8.7% และ 8.1% ตามลำดับ เปรียบเทียบกับ 11.9% ในปี 2554 ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 9% จากราคาปูนซีเมนต์ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้าและการฟื้นตัวของราคาเม็ดพลาสติกในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 11.9% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระดับอันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม การประเมินอันดับเครดิตของบริษัทยังพิจารณารวมถึงประมาณการภาระหนี้ของบริษัทที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากการลงทุนด้วย โดยเฉพาะโครงการขยายโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 2558 ที่ระดับประมาณ 30% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าโครงการขยายโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการตลาดต่อบริษัทในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานในระดับไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า หนี้ระยะยาวของบริษัทที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2556-2558 อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี อัตราส่วนสภาพคล่องของบริษัทคาดว่าจะอ่อนแอลงในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ในระดับเกินกว่า 10% ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับเกินกว่า 4 เท่า