ส่วนบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรจากอิตาลี ขณะนี้มีผู้สนใจให้ทำการก่อสร้างโรงก๊าซชีวภาพ 5-6 แห่ง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.ย.นี้
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ UAC เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม(PPP) จ.สุโขทัย ในการผลิตก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) เปิดดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ และสามารถทยอยส่งมอบให้กับบมจ.ปตท(PTT)แล้ว ส่งผลให้ในไตรมาส 3/56 บริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวเข้ามาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทต่อไตรมาส ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้จาก PPP เข้ามา 120 ล้านบาท
“บริษัทฯจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จากโครงการ PPP เข้ามาประมาณ 120 ล้านบาท หรือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทต่อไตรมาส และคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาเต็มที่ในปี 2557 เฉลี่ยประมาณ 300-350 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิต รวมประมาณ 20,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น CNG 65%, LPG 30% และ NGL 5%"นายกิตติ กล่าว
ขณะที่โครงการโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(CBG) บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างเพิ่มอีก 2 โครงการ ในเชียงใหม่ และขอนแก่น เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการและผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 57 จากปัจจุบันมีโรงผลิตก๊าซ CBG แล้ว 1 แห่ง ที่อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ส่วนการขยายโครงการที่เหลืออีก 17 โครงการนั้น อยู่ระหว่างแผนการศึกษาในการลงทุน
“UAC ตั้งเป้าการขยายโครงการ CBG จำนวน 20 แห่ง ในภาคเหนือและอีสาน โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนของบริษัทเอง 10 แห่ง และ Partner อีก 10 แห่ง ภายในปี 2558 ซึ่งการขยายโครงการ CBG ทั้ง 20 โครงการนี้จะสามารถสร้างรายได้ข้ามาไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท“นายกิตติ กล่าว
สำหรับประมาณการรายได้ในปีนี้ บริษัทยังคงเป้าอัตราการเติบโตของรายได้ 20-30% แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง 75% ธุรกิจพลังงาน 25% จากการรับรู้รายได้จากโครงการ PPP 120-150 ล้านบาท และโรงก๊าซ CBG ประมาณ 30-50 ล้านบาท
ส่วนการร่วมทุนกับบริษัท SEBIGAS (S.p.A) ผู้นำด้าน Bio-gas จากประเทศอิตาลี ภายใต้“UAC Energy "นั้น จะเพิ่มรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดย SEBIGAS จะนำเทคโนโลยีการผลิต Bio-gas การนำ Bio-gas ไปผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงงาน การเดินเครื่องโรงงาน การบำรุงรักษา(O&M Service)มาใช้ในบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะทำให้แนวโน้มธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างมีศักยภาพมากขึ้น
สำหรับโครงการแรกที่บริษัทร่วมทุนจะรับดำเนินการ คือโครงการ CBG แม่แตง 2 และโครงการ CBG ของบริษัทฯ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน(สนพ.) จำนวน 9 โครงการ ขณะเดียวกันปัจจุบันก็มีผู้สนใจจะให้รับเหมาก่อสร้างโรงงานก๊าซชีวภาพอีกจำนวน 6-7 โรง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.ย.นี้
นายกิตติ กล่าวอีกว่า บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 30% ร่วมกับบมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP)ถือหุ้นอยู่ 70% มีแผนจะขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะมีการเพิ่มเงินลงทุนในสัดส่วนเท่าใด เบื้องต้นคาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าลงทุนราว 1.3 พันล้านบาท พร้อมท้งเตรียมหาผู้รับเหมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปี 57 และเริ่มผลิตในส่วนขยายได้ในปี 58 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีการเติบโตได้อีก
"เราได้มีการตัดสินใจที่จะขยายกำลังการผลิต เนื่องจากยังเห็นความต้องการใช้ไบโอดีเซล ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเราก็อยู่ระหว่างพูดคุยกับทางบางจากว่าจะมีการเพิ่มเงินทุนเข้าไปอีกเท่าไหร่ ซึ่งทั้งโครงการมูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านบาท เราก็ได้เริ่มหาผู้รับเหมาแล้ว จะเริ่มสร้างได้กลางปีหน้า และเริ่มผลิตได้ปี 58 จะทำให้เรามีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง"นายกิตติ กล่าว