ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 1 พันลบ. SIRI ที่ระดับ “BBB/Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 12, 2013 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ. แสนสิริ (SIRI) ที่ระดับ “BBB" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิต หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Positive" หรือ “บวก"

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่คาดว่าจะดีขึ้นทั้งในแง่ของยอดขายและกำไรในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งได้รับแรงหนุนมาจากยอดขายที่รอการส่งมอบและรับรู้รายได้จำนวนมาก ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถคงอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อทุนได้ต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างสม่ำเสมอ ในทางตรงข้าม หากสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากก็อาจทำให้ต้องปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตลง

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของ SIRI ตลอดจนผลงานที่ได้รับการยอมรับในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร ความหลากหลายของสินค้า และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่จะรับรู้รายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงไปบางส่วนจากการที่บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและมีการแข่งขันสูง รวมถึงความกังวลในด้านต้นทุนการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและภาวะการขาดแคลนแรงงานในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

SIRI เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ณ เดือนสิงหาคม 2556 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยจำนวน 116 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 145,000 ล้านบาท โดยประกอบด้วยโครงการคอนโดมิเนียม 61% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด บ้านเดี่ยว 31% และทาวน์เฮ้าส์ 8% ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของที่อยู่อาศัยโดยรวมอยู่ที่ 3.5 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2556 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2 เท่าของรายได้ในปี 2555 และมีมูลค่าเหลือขายอีกประมาณ 49,000 ล้านบาท บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีแบรนด์ที่อยู่อาศัยที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี รวมถึงการมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และสินค้าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคอนโดมิเนียม

ยอดขายของบริษัทในปี 2555 ทำสถิติสูงสุดที่ 42,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 21,792 ล้านบาทในปี 2554 ในครึ่งแรกของปี 2556 ยอดขายเติบโต 57% เป็น 28,610 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายคอนโดมิเนียมที่เติบโตขึ้น สำหรับยอดขายบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3% ในขณะที่ยอดขายทาวน์เฮ้าส์ลดลงอย่างมาก ยอดขายที่สูงขึ้นของคอนโดมิเนียมทำให้บริษัทมียอดสินค้าที่รอการส่งมอบจำนวนมาก

รายได้ของบริษัทในปี 2555 เท่ากับ 29,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จาก 20,542 ล้านบาทในปี 2554 โดยรายได้ของบริษัทในปี 2555 เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งสะท้อนถึงสถานะที่โดดเด่นทั้งในตลาดคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากสินค้าทุกประเภท รายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 เท่ากับ 12,682 ล้านบาท เติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบยอดขายที่รอการรับรู้รายได้มูลค่า 15,000 ล้านบาทได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ทั้งนี้ รายได้ในปี 2557 2558 และ 2559 ของบริษัทนั้นมียอดสินค้าที่รอการส่งมอบและรับรู้รายได้อยู่แล้วมูลค่า 20,000 ล้านบาท 15,000 ล้านบาท และ 10,000 ล้านบาท ตามลำดับ

สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 อ่อนตัวลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายลดลงเหลือ 6.5% จาก 14%-16% ในช่วงปี 2552-2555 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคาดว่าจะดีขึ้นเป็น 13%-15% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อบริษัทสามารถส่งมอบยอดขายที่รอการรับรู้รายได้ได้ตามแผน

นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 61%-63% ในช่วงปี 2553-2555 และเพิ่มขึ้นเป็น 66% ณ เดือนมิถุนายน 2556 ในขณะที่อัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2556 จาก 1.6-1.7 เท่าในช่วงปี 2553-2555 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 9.95% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะดีขึ้นเป็น 12%-14% เมื่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทดีขึ้น และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ