และความก้าวหน้าการขายช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ในอินเดีย ทำให้ตัวเลขยอดใช้ข่องสัญญาณขยับขึ้นมาเป็น 4% จากที่กันไว้สำหรับให้บริการในตลาดอินเดียทั้งหมด 17% ขณะที่ตลาดในไทยเอง ขายให้กับ บมจ.ทีโอที เต็ม 9% นอกจากนี้ตลาดในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียก็มียอดการใช้งานเกินกว่าสัญญาไปแล้ว
พร้อมกันนั้น การปรับกลยุทธ์การขายที่เคยเน้นขายอุปกรณ์ หันมาเน้นขายช่องสัญญาณดาวเทียม(Bandwidth)แทน โดยไม่เน้นการเติบโตของรายได้มากนัก เนื่องจาก EBITDA Margin ของการขายช่องสัญญาณณดาวเทียมสูงถึง 50% ขณะที่ EBITDA Margin ของการขายอุปกรณ์ต่ำกว่า 10% จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยพลิกฟื้นผลประกอบการ
"เราเน้นทำกำไรมากกว่ารายได้ จะเห็นว่ากำไรจะเติบโตสูง เพราะมีการปรับพอร์ตตัดขายบริษัทที่กัมพูชา และปรับกลยุทธ์การขายแทนที่จะขาย Terminal(อุปกรณ์) แต่มาเน้นเรื่อง Bandwidth...เราตั้งใจจัดพอร์ตทำรายได้เป็น High Value ที่มีมาร์จิ้นสูง"นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ ในปี 56 บริษัทคาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่เติบโตก้าวกระโดดอย่างมากจากปี 55 ที่มีกำไรสุทธิ 174 ล้านบาท และปี 57 มั่นใจว่ากำไรสุทธิจะเติบโตต่อเนื่องราว 20-30% จากปีนี้ เนื่องจากการรับรู้รายได้การขาย Bandwidth ของไอพีสตาร์ให้ลูกค้ารายใหญ่ในจีนที่จะเริ่มในไตรมาส 4/56 และรับรู้รายได้จากดาวเทียมไทยคม 6 ในช่วงปลายปี 56 ซึ่งรายได้ทั้งสองส่วนนี้จะรับรู้เต็มที่ในปี 57 เป็นต้นไป
นางศุภจี กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายช่วง 3 ปีนี้(ปี 56-58)จะมีกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ซึ่งหมายถึงกำไรจากธุรกิจดาวเทียมโดยตรง เติบโต 100% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 55 ที่มีกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ 786 ล้านบาท เป็นการพลิกฟื้นมีกำไรเป็นปีแรกหลังขาดทุนมานาน 5 ปี โดยในปี 54 มีผลขาดทุน 476 ล้านบาท
ในขณะที่รายได้ คาดว่าในช่วงปี 56-58 จะเติบโตปีละ 8-10% โดยสัดส่วนรายได้จาก Broadbrand Sattlelite อยู่ที่ 55% และ Broadcast Sattlelite อยู่ที่ 45%
*เดินหน้าทำการตลาด iPSTAR
นางศุภจี กล่าวว่า บริษัทจะทำการตลาดไอพีสตาร์ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ คาดว่าน่าจะเซ็นสัญญาได้ในปีหน้า โดยบริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรกับ Gilat Satelite Networks จากอิสราเอลที่ช่วยเจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยใช้อุปกรณ์ภาคพื้นดินของ Gilat เชื่อมต่อดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัท Open Access Platform คือเปิดโอกาสให้ผู้จัดจำหน่ายรายอื่นขายอุปกรณ์ภาคพื้นดินเชื่อมต่อไอพีสตาร์ได้ นอกจากนี้ก็จะเดินหน้าทำการตลาดเพิ่มในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย เพิ่มเติมด้วย
ปัจจุบัน ยอดการใช้งานช่องสัญญาญดาวเทียมไอพีสตาร์อยู่ที่ 54% และตั้งเป้าสิ้นปี 56 จะมียอดการใช้อยู่ที่ 59% จากปีก่อนมียอดการใช้ที่49%
ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 7 รองรับตลาดเอเชียแปซิฟิก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ คาดว่าปีหน้าจะทำการตลาดได้ประมาณ 40-50%
นางศุภจี กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการสร้างดาวเทียมไทยคม 8 เพื่อส่งขึ้นสู่ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อรองรับความต้องการในธุรกิจ Broadcast ที่มีสูง โดยเฉพาะทีวีดิจิตอลที่จะเปิดช่องฟรีทีวีใหม่ 48 ช่อง และความต้องการใช้งานช่องคมชัดสูง(HD) ที่มีความต้องการจาก CTH รออยู่ คาดว่าจะใช้เวลาสร้างและส่งดาวเทียม 2 ปี
เบื้องต้นคาดว่าดาวเทียมไทยคม 8 จะมีขนาดใกล้เคียงกับไทยคม 6 ที่ประมาณ 33 ทรานสปอนเดอร์ และใช้รูปแบบระดมทุนเหมือนกัน คือการใข้เงินกู้ประมาณ 80% ส่วนที่เหลือ 20% ใช้กระแสเงินสดของบริษัทที่มีเข้ามาไตรมาสละประมาณ 3 พันล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีสถาบันการเงินเสนอการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุน หรืออาจจะออกหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง ที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม Positive
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะสร้างดาวเทียมใหม่ 2 ดวง เพื่อส่งขึ้นสู่ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาประสานความถี่กับ 4 ประเทศที่มีดาวเทียมใกล้กับตำแหน่งดังกล่าว คือ จีน รัสเซีย ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งขณะนี้เจรจาได้แล้วยกเว้นจีน และได้ยื่นไฟลิ่งให้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แล้ว คาดว่าภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าน่าจะได้ข้อสรุป
ส่วนอีกดวงอยู่ในตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก จะเป็นดาวเทียมบรอดแบรนด์ หรือไอพีสตาร์ 2 เบื้องต้นคาดว่าจะมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับไอพีสตาร์ดวงแรก ขณะนี้อยู่ในช่วงสำรวจตลาดว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดดาวเทียม หรือสามารถเซ็นสัญญาขายช่องสีญญาณล่วงหน้าได้เกิน 50% ก็จะทำให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่ได้รับกระทบด้านการเงิน
นางศุภจี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานะการเงินของ THCOM ถือว่าฐานะแข็งแกร่งขึ้น โดยปัจจุบันมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 0.5 เท่า จากหนี้สถาบันการเงิน คือ ธนาคารกสิกรไทย จำนวน 100 ล้านเหรียญ และหุ้นกู้ 3,700 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนใน พ.ย.57
"สถานะการเงินเราแข็งแกร่งมาก ทำให้เรามีทางเลือกการลงทุนมากกว่าเงินกู้" นางศุภจีกล่าว
*อนาคตสดใสตลาด Broadband-Broadcast เติบโตสูง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า แนวโน้มตลาด Broaband เติบโตจากความต้องการใช้งานดาต้าสูงขึ้มากซึ่งจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน และด้วยกลยุทธ์ของบริษัททำตัวเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นคู่แข่งของโอเปอเรเตอร์ ดังเช่นโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายในญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้า
และการใช้งานแบบ Mobility ในรูปแบบ Sattlelite Communication on the Move โดยใช้เครือข่ายดาวเทียมเพื่อให้มีการใช้ดาต้าใด้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การใช้ Wifi บนเครื่องบิน, Wifi ในเรือทะเลลึก รวมถึงเรือท่องเที่ยว ซึ่งบริษัทเห็นความต้องการใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในย่านเอเชียแปซิฟิกที่ยังมีผู้ให้บริการน้อยราย ขณะที่ย่านนี้มีโอเปอเรเตอร์รายใหญ่อยู่ ได้แก่ ไชน่าเทเลคอม และในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังเห็นแนวโน้มการใช้ Multi Screen ที่เป็นการรวมระหว่าง Broadcast กับ Broadband เข้าด้วยการกันสามารถนำโครงข่ายดาวเทียมจะช่วยเสริมให้สามารถดูได้ต่อเนื่องเมื่อเปลี่ยน platform เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี เป็นต้น
รวมทั้งยังมีแนวโน้มการใช้ดาวเทียมเป็นระบบสำรองใช้งานมากขึ้นสำหรับการสื่อสารในกรณีเกิดภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเคยให้ความช่วยเหลือระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในจีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ รวมทั้งช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย
"ตอนนี้ธุรกิจของเรากำลังเดินด้วยโตอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง เพราะว่าในปีที่แล้วที่เรา Turnaround โดยเริ่มมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 54 แต่ปี 54 เต็มปียังขาดทุน พอปี 55 มีกำไร และเราจัดพอร์ต ปิดบริษัทที่เขมร ปรับปรุงวิธีการตลาด ปรับปรุงองค์กร ที่นี้ ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนก็มองว่าเราจะเติบโตต่อได้หรือไม่ ตอนนี้คือช่วงที่เราจะทำให้เห็นว่าเราสามารถโตได้ และก็โตได้อย่างยั่งยืน เพราะดูครึ่งปีแรก มีผลกำไร 521 ล้านบาทโตจากปีก่อน 332% โตมากกว่า 2 เท่า...เราต้องการมีนักลงทุนสถาบันมากขึ้น ต้องการผู้ถือหุ้นที่เป็น long term เพราะทำให้ราคาสั่นไหวไม่มาก"นางศุภจีกล่าว
ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า THCOM มีนักลงทุนสถาบันมากขึ้น จากข้อมูลเมื่อเดือน เม.ย.56 นักลงทุนสถาบันในประเทศ ถือ 66.11% นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 9.03% นักลงทุนในประเทศ 24.84% เทียบจากเดือน มิ.ย.54 นักลงทุนสถาบันในประเทศ ถือ 50.5% นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 2.30% นักลงทุนในประเทศ 47.1%
อนึ่ง บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น(INTUCH)ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ THCOM ในสัดส่วน 41.14%