นายอำรุง สรรพสิทธิ์วงศ์ กรรมการบริษัท CPALL กล่าวว่า การออกและเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้จะทำให้หนี้ของบริษัทยืดอายุเป็นหนี้ระยะยาว และมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งโดยธรรมชาติอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร และ CPALL ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ A+ โดย ฟิทช์ (ประเทศไทย)
ด้านนายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ รองกรรมการผู้จัดการ CPALL กล่าวว่า จากการที่บริษัทได้เข้าถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมใน บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) สัดส่วน 97.88% มาพร้อมกับภาระหนี้ระยะสั้นที่กู้เงินมาซื้อกิจการ MAKRO รวม 5,773 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 185,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32.05บาท/ดอลลาร์) บริษัทจึงจำเป็นต้องจัดหาเงินกู้ระยะยาว เพื่อชำระคืนหนี้ระยะสั้นด้วยการออกหุ้นกู้ที่อนุมัติไว้ไม่เกิน 9 หมื่นล้านบาท พร้อมกับแปลงหนี้สกุลเงินดอลลาร์ในการออกหุ้นกู้สกุลบาทด้วย
ส่วนเงินกู้ระยะสั้นอีกส่วนที่เป็นเงินสกุลบาทนั้น บริษัทจะเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อแปลงเป็นเงินกู้ระยะยาว คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 57
"เป็นการก่อหนี้เพื่อทดแทนหนี้เดิม แต่ไม่ใช่ก่อหนี้เพิ่ม D/E โครงสร้างเงินทุนไม่เปลี่ยนแปลง ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นคือข้อดีของการออกหุ้นกู้จะมีดอกเบี้ยคงที่ในภาวะตลาดการเงินผันผวน เปลี่ยนเงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินกู้ระยะยาวผ่านอายุหุ้นกู้ และปรับหนี้สกุลดอลลาร์เป็นสกุลเงินบาท"นายเกรียงชัย กล่าว
สำหรับแผนการชำระหนี้ระยะยาว บริษัทคาดว่าเมื่อรวมกิจการเข้าด้วยกันกับ MAKRO จะมีความสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลง โดยจะเพิ่มยอดขายร้านเดิม ขยายสาขา รวมถึงความร่วมมือในแง่การประหยัดเชิงขนาดค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ และการมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ และสามารถนำเสนอสินค้าตั้งแต่ต้นทางหรือวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าสำเร็จรูปมาจำหน่ายผ่านร้าน 7-11
นายเกรียงชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3/56 งบการเงินของ MAKRO จะถูกรวมอยู่ในงบรวมของ CPALL ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา MAKRO มียอดขายเติบโตเฉลี่ยเกือบ 20% กำไรสุทธิเติบโต 20% และยอดขายร้านเดิมโตปีละ 8%
"เราเชื่อว่าอัตราเติบโตของ MAKRO เมื่อรวมกับของ CPALL โตได้อีกการผนวกกิจการครั้งนี้จะมีความเข้มแข็งและเติบโต เราเชื่อว่า Synergy มีความร่วมมือในระยะยาว"นายเกรียงชัยกล่าว