พร้อมทั้ง มีมติเห็นชอบการเปิดเส้นทางบินใหม่ จำนวน 4 เส้นทาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และรองรับความต้องการของตลาด โดยเพิ่มเส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ—ฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำการบินโดยหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 320-200 สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2556
เส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ — ฉางชา สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำการบินโดยหน่วยธุรกิจ การบินไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 320-200 สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2556 และจะเพิ่มความถี่เป็นสัปดาห์ละ 5 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นไป
เส้นทางบิน ไป-กลับ กรุงเทพฯ — หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำการบินโดยหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 320-200 สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป
เส้นทางบินไป-กลับ กรุงเทพฯ — เซนได ประเทศญี่ปุ่น ทำการบินโดยการบินไทย ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330-300 สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป
นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติปรับโครงสร้างสายการพาณิชย์ใหม่ โดยจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบออกเป็น 5 ส่วน มีผู้อำนวยการใหญ่เป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย 1.ฝ่ายการตลาดและบริหารรายได้ ทำหน้าที่กำหนดราคาตั๋ว 2.ฝ่ายขาย-ประเทศไทยและอินโดจีน รับผิดชอบการขายเส้นทางบินภายในประเทศและอินโดจีน รวมทั้งรับผิดชอบงานคอลเซ็นเตอร์ โดยมีเป้ารายได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
3.ฝ่ายขาย-ภูมิภาค รับผิดชอบการขายเส้นทางบินประเทศในเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ปากีสถาน เป้ารายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท 4.ฝ่ายขาย-ระหว่างทวีป รับผิดชอบเส้นทางบินยุโรป ออสเตเลีย แอฟริกา เป้ารายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และ 5.ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิตอล รับผิดชอบการขายฝ่ายโซลเซียลเน็ตเวิร์คทั้งหมด โดยตั้งเป้าให้สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% จากปัจจุบันที่มียอดขายอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนการขายเพียง 10-11%
"การปรับโครงสร้างฝ่ายพาณิชย์ครั้งนี้ เป็นการผ่าฝ่ายพาณิชย์ออกเป็นส่วนๆ ซึ่งไม่เคยมีการปรับมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ซึ่งการบินไทยต้องการให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท ที่ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง การจะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งรับผิดชอบยอดขายทั้ง 1.7 แสนล้านบาทตามโครงสร้างเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย หากผิดพลาดเพียง 1% เท่ากับว่าการบินไทยจะเสียหายไป 1.7 พันล้านบาท" นายสรจักร กล่าว
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังอนุมัติให้รับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพิ่มอีก 280 คน จากเดิมที่ขอไปตั้งแต่ต้นปีที่ 500 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับสมัครไปแล้ว 247 คน